ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
น้อยหน่า น้อยหน่า
น้อยหน่า
 
น้อยหน่า
ชื่ออื่นๆ: หมักเขียบ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ลาหนัง (ปัตตานี) มะนอแน่ มะแน่ (เหนือ) เตียบ (เขมร)
หน่อเกล๊ะแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) มะออจ้า มะโอจ่า (เงี้ยว-เหนือ)
ชื่อสามัญ: Sugar apple, Sweet sop
ชื่อวิทยาศาสตร์: Annona squamosa L.
วงศ์: ANNONACEAE
ถิ่นกำเนิด: แถบอเมริกากลาง และใต้ แต่จะพบอยู่ทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคกลาง
และตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะทั่วไป: ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-5 ม. ทรงพุ่มโปร่ง ทรงพุ่มไม่แน่นอน แล้วแต่การตัดแต่ง
และใช้ประโยชน์ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 3-6 ซม. ยาว 7-13 ซม.
ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ ห้อยลง กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว 6 กลีบ เรียง 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ
หนาอวบน้ำ มีเกสรตัวผู้และรังไข่จำนวนมาก ผลเป็นผลกลุ่ม ค่อนข้างกลม
ฤดูการออกดอก: มีนาคม - พฤษภาคม
เวลาที่ติดผล: มิถุนายน - กันยายน
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
สายพันธุ์ไม้:
น้อยหน่าลูกผสมเพชรปากช่อง Atemoya "Petch Pakchong"
น้อยหน่าลูกผสม (Annona atemoya Hort.) เป็นลูกผสมระหว่าง "เซริมัวย่ากับสวีทชอพ"
ผลมีลักษณะคล้ายเซริมัวย่า สามารถปลูกได้ดีในบริเวณที่ปลูกน้อยหน่าพื้นเมือง แต่บางพันธุ์
ต้องปลูกในบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นกว่า และสูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ จึงจะออกดอกติดผล
เนื่องจากเป็นลูกผสมการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดจึงมีโอกาสกลายพันธุ์เป็นอย่างมาก
การรักษาพันธุ์สามารถทำได้โดยการติดตาหรือต่อกิ่ง โดยใช้น้อยหน่าหรือสวีทซอฟ เป็นต้นตอ
นิยมปลูกกันแพร่หลายในอเมริกา อิสราเอล และออสเตรเลีย ในประเทศไทยนำเข้ามาปลูกที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เรียกกันติดปากว่า "น้อยหน่าออสเตรเลีย"
ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มโครงการวิจัยเรื่อง การปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลสกุล น้อยหน่า (Annona breeding) เพื่อที่จะสร้างสายพันธุ์น้อยหน่าลูกผสม "อะติมัวย่า" ขึ้นมาใหม่ ให้มีคุณภาพผลดีกว่าพันธุ์เดิม ให้ได้ผลขนาด 250-400 กรัม มีเนื้อมากเมล็ดน้อย ผลไม่แตก ความหวานไม่น้อยกว่า 15 บริกซ์ และมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวยาวนาน ปัจจุบันสามารถคัดเลือกพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะดีเด่นกว่าพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่ ตรงตามวัตถุประสงค์ จำนวน 15 สายพันธุ์ และพันธุ์ที่มีลักษณะเด่น พร้อมแนะนำให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าต่อไป ให้ชื่อว่า พันธุ์เพชรปากช่อง

ลักษณะประจำพันธุ์
น้อยหน่าลูกผสมพันธุ์เพชรปากช่อง เกิดจากการผสมระหว่าง (Cherimoya X หนังครั่ง) X
หนังเขียว #102 เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะใบขนาดกลางรูปหอก กว้าง 7.4 ซม. ยาว 14.9 ซม. สีเขียวเข้ม เส้นใบเด่นเห็นชัด ทรงพุ่มโปร่งปานกลาง ดอกใหญ่สั้น กว้าง 0.9 ซม. ยาว 2.8 ซม. ผลใหญ่รูปหัวใจ เฉลี่ยกว้าง 9.0 ซม. ยาว 9.7 ซม. น้ำหนักผลเฉลี่ย 373.9 กรัม/ผล ผิวผลเรียบมีร่องตาตื้นคล้ายน้อยหน่าหนัง ผลอ่อน สีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดสีเขียวอ่อน-ขาวนวล เปลือกบางลอกเปลือกได้ ผลไม่แตกเมื่อแก่หรือสุก เนื้อเหนียวแน่นคล้ายน้อยหน่าหนังสีเขียว ปริมาณเนื้อ 73% เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เฉลี่ย 36 เมล็ด/ผล รสหวานหอม ความหวาน 20 บริกซ์ อายุหลังการเก็บเกี่ยวยาวนาน เฉลี่ย 4.9 วัน ดังนั้น พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์บริเวณชายฝั่งทะเลระหว่างสองปี หลังจากนำภาพมาซ้อนทับกัน พบว่าพื้นที่ส่วนมากจะแสดงผลออกมาเป็นสีเหลือง แสดงถึงเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการ
เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน สำหรับบริเวณพื้นที่ที่เป็นสีแดงและสีเขียวนั้น แสดงถึงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งทะเล

ข้อแนะนำ
สำหรับวิธีการปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแต่เลือกใช้กิ่งพันธุ์คุณภาพดี ที่มีความสูงประมาณ 40-50 ซม. และปลูกโดยใช้ระยะห่าง ประมาณ 2x2 ม. ระดับความลึกประมาณ 1 คืบ ในแต่ละหลุมให้เติมปุ๋ยคอกรองใส่ก้นหลุมประมาณครึ่งปี๊บก่อน จึงนำกิ่งพันธุ์ลงปลูก หลังจากนั้นกลบดินให้แน่น สำหรับการให้น้ำในช่วงแรก ควรรอให้ต้นน้อยหน่าฟื้นตั้งต้นได้ดีก่อนสัก 3-4 วัน จึงค่อยให้น้ำอย่างเต็มที่ หากช่วงใดที่มีฝนตกมาก ก็งดให้น้ำไปเลย หลังจากนั้นสัก 2-3 อาทิตย์ จึงให้น้ำอย่างเต็มที่ หากท่านคิดจะทำสวนน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง ควรเข้าใจธรรมชาติของไม้ผลชนิดนี้สักหน่อยว่า เป็นไม้ผลที่ชอบน้ำ แต่ไม่ควรให้น้ำมากจนดินแฉะเกินไป
เมื่อปลูกได้ประมาณ 2 เดือน ให้ตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดเล็กและกิ่งกระโดงออกให้หมด รวมทั้งตัดยอดด้วย ตัดแต่งต้นให้เป็นทรงพุ่ม ระยะการใส่ปุ๋ยเป็น 3 ช่วง ทุกๆ 2-3 เดือน ระยะแรกให้เติมปุ๋ยสูตร 15-15-15 ก่อนระยะที่ 2 ควรเติมปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 พอถึงระยะที่ 3 ก็ให้เติมปุ๋ยสูตร 8-24-24 และเพื่อความสมบูรณ์ของต้นน้อยหน่า ควรเติมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยขี้ไก่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
และเพื่อให้มีผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ควรเริ่มดูแลตัดแต่งสวนเมื่อต้นน้อยหน่ามีอายุ 18-24 เดือน โดยเลือกกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.5-1 ซม. เอาไว้ และควรคัดเลือกน้อยหน่าผลงามๆ ไว้สัก 30 ลูกต่อต้น จากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งจากกิ่งง่ามออกประมาณ 20 ซม. ส่วนกิ่งฝอยและกิ่งกระโดงตัดออกให้หมด รวมทั้งใบด้วย ให้เหลือแต่ต้นตอ
น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องจะแตกใบพร้อมดอกในช่วง 30 วัน หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือนก็จะเริ่มติดลูก ช่วงนี้แนะนำให้ฉีดปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยเกล็ดก็ได้ เพื่อบำรุงดอกและผล หากตรวจสอบต้นน้อยหน่าว่ามีปัญหาโรคหรือแมลง ก็ให้รีบฉีดยาป้องกันโรคเชื้อราไปพร้อมกัน
การห่อผล ห่อผลในระยะที่ต้นน้อยหน่าเริ่มติดผลแล้ว 3 เดือน ซึ่งมีผลขนาดเท่ากำปั้น เพื่อป้องกันการเจาะของหนอนและแมลงวันทอง นอกจากนี้ ผลดีของการห่อผลก็คือ จะช่วยทำให้ผลของน้อยหน่ามีขนาดใหญ่ขึ้น 20-30% และทำให้ผลน้อยหน่ามีสีสวย ซึ่งจะเป็นสีออกเหลืองอมชมพู หลังจากนั้นเมื่อผลน้อยหน่ามีอายุ 150 วัน ก็ถือว่าผลแก่พอที่จะเก็บเกี่ยวได้เลย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตน้อยหน่าจะเริ่มเก็บตั้งแต่เวลา 07.00-11.00 น. เก็บผลน้อยหน่าที่ห่อผลทั้งถุง เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดกับผลน้อยหน่าให้น้อยที่สุด เก็บผลน้อยหน่าตามคำสั่งซื้อของแม่ค้าเท่านั้น เนื่องจากน้อยหน่าผลแก่ เมื่อตัดจากต้นแล้วจะสามารถเก็บเพื่อรอขายได้นานนับ 10 วัน
น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องจะขายได้ราคาดี อยู่ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่มีไม้ผลคู่แข่งออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ทำให้แม่ค้าสามารถตั้งราคาขายน้อยหน่าได้สูงกว่าช่วงอื่นๆ ของปี
น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องมีจุดเด่นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อปลูกไปนานปีก็จะยิ่งให้ผลผลิตที่เพิ่มพูนมากขึ้น การปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่องในปีแรกจะให้ผลผลิตไม่เกิน 3 ลูกต่อต้น ปีที่ 2 ก็จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 10-15 ลูกต่อต้น ปีที่ 3 ก็ยิ่งจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 ลูกต่อต้น จุดเด่นของน้อยหน่าพันธุ์นี้จะมีปริมาณน้ำหนักต่อผลสูงถึง 1-2 กก. ทีเดียว เรียกว่าปลูกครั้งเดียวสามารถที่จะเก็บผลผลิตได้นานนับ 10 ปี หากรู้จักที่จะดูแลให้ดีๆ ผลผลิตก็ย่อมออกมาดีนั่นเอง
ข้อมูลอื่นๆ:
ใบสดและเมล็ด น้อยหน่าสามารถใช้ฆ่าเหา และโรคกลากเกลื้อน โดยเอาใบน้อยหน่าสดมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วพอกหัว ภายใน 7 วัน กลากเกลื้อนและเหาก็จะหาย มีวิธีรักษาอยู่ 2 วิธีคือ
- นำใบน้อยหน่า 3-4 ใบ มาบดหรือตำให้ละเอียดแล้วคลุกกับเหล้า 28 ดีกรี คลุกให้เคล้ากัน จนได้กลิ่นน้อยหน่า แล้วนำมาทาหัวให้ทั่ว เอาผ้าคลุมไว้สัก 10-30 นาที แล้วเอาผ้าออกใช้หวีสาง เหาก็ตกลงมาทันที
- นำใบน้อยหน่า 7-8 ใบ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำทาหัวทิ้งไว้สักครู่ แล้วล้างออก จะช่วยทำให้ไข่ฝ่อ และฆ่าเหาได้ และแก้ขับพยาธิลำไส้ แก้หิด แก้กลากเกลื้อน และแก้ฟกบวม
ราก เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน และแก้พิษงู ถอนพิษเบื่อเมา
เปลือกต้น เป็นยาสมานลำไส้ สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้พิษงู แก้รำมะนาด ยาฝาดสมาน
ผล ผลดิบจะเป็นยาแก้พิษงู แก้ฝีในคอ กลาก เกลื้อน ฆ่าพยาธิ ผิวหนัง และผลแห้ง แก้งูสวัด เริม แก้ฝีในหู
หมายเหตุ:
น้อยหน่าจะออกดอกมากเมื่อมีการตัดแต่งกิ่งและแตกยอดใหม่เท่านั้น (ออกดอกเฉพาะกิ่งที่แตกใบใหม่เท่านั้น)
แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง
เอกสารอ้างอิง:
1. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (38)
2. เรืองศักดิ์ กมขุนทด และฉลองชัย แบบประเสริฐ. สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และสุดใจ วรเลข
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ นครปฐม