มะม่วง |
ชื่ออื่นๆ: |
มะม่วงบ้าน มะม่วงสวน หมักโม่ง หมากม่วง ลูกม่วง |
ชื่อสามัญ: |
Mango, Mango tree |
ชื่อวิทยาศาสตร์: |
Manaifera indica Linn. |
วงศ์: |
ANACARDIACEAE |
ถิ่นกำเนิด: |
เอเชียเขตร้อน |
ลักษณะทั่วไป: |
ไม้พุ่มยืนต้น สูงประมาณ 10 - 15 ม. ลำต้นตรง เรือนยอดกลม ทึบ ใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบเวียน ใบรูปหอกยาวแกมขอบขนาน ปลายเรียวแหลม โคนมนแหลม ออกดอกเดือนธันวาคม ถึง มกราคม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ในช่อดอกหนึ่งๆ จะมีช่อย่อยหลายช่อ ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้น ผลสุกเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน และมีพันธุ์ทวายซึ่งออกนอกฤดูกาล ผลเป็นแบบผลสด รูปทรง ขนาด และสีผิวแล้วแต่ชนิดพันธุ์นั้นๆ บริโภคได้ทั้งผลดิบและผลสุก รสเปรี้ยว มัน และหวาน มะม่วงในประเทศไทยโดยเฉพาะที่ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีอยู่หลากหลายพันธุ์ |
พันธุ์: |
มะม่วงในประเทศไทยมีมากหลายพันธุ์ สามารถแบ่งตามลักษณะการนำมาบริโภคได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ |
1. |
มะม่วงสำหรับรับประทานผลดิบ เช่น น้ำดอกไม้มัน พิมเสนมัน แรด เขียวเสวย หนองแซง ฟ้าลั่น มันหวานปากช่อง เบาสงขลา เป็นต้น |
2. |
มะม่วงสำหรับรับประทานผลสุก เช่น อกร่อง อกร่องพิกุลทอง น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน ทองดำ เป็นต้น |
3. |
มะม่วงที่ปลูกเพื่อการอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ - มะม่วงสำหรับดอง เช่น แก้ว โชคอนันต์ เป็นต้น - มะม่วงสำหรับบรรจุกระป๋อง ทำน้ำคั้น แช่อิ่ม เช่น มะม่วงสามปี มหาชนก เป็นต้น |
 |
พันธุ์ต่างๆ ที่มีในศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม
|
พันธุ์เทพนิมิตร |
 |
เป็นมะม่วงกินดิบ มีรสเปรี้ยวจัด ผลทรงรี อกและแก้มกลมโต ผลมีขนาดใหญ่ ความยาวมากกว่า 15 ซม. เนื้อผลมาก เมล็ดลีบบาง
|
พันธุ์น้ำดอกไม้มัน |
 |
เป็นมะม่วงกินดิบ มีรสมันหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลทรงรีแกมหอก หลังและอกโค้งรับกันคล้ายรูปเขี้ยวสัตว์ ก้นผลแหลมงอเข้าหาอกเล็กน้อย ผลมีขนาดใหญ่ ความยาวมากกว่า 15 ซม. เนื้อผลมาก เมล็ดลีบบาง
|
พันธุ์มันศาลายา |
 |
เป็นมะม่วงกินดิบ มีรสมันหวานจืด ผลทรงรีแกมหอก หลังและอกโค้งรับกันคล้ายรูปเขี้ยวสัตว์ ผลมีขนาดกลาง ความยาวประมาณ 15 ซม. เนื้อผลมาก เมล็ดลีบขนาดกลาง
|
พันธุ์เบาสงขลา |
 |
เป็นมะม่วงกินดิบ มีรสเปรี้ยว ออกดอกก่อนพันธุ์ทั่วไป ผลทรงกลมแกมรี หลังและอกโค้งเกือบเป็นครึ่งทรงกลมรับก้นโค้งแหลมเล็กน้อย ผลมีขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 7 ซม. เนื้อผลน้อย (แต่มากกว่ามะม่วงกะล่อน) เมล็ดกลมรีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 4 - 5 ซม. มีการติดผลจำนวนมากต่อหนึ่งช่อดอก และติดผลดกมาก
|
พันธุ์ทองดำ |
 |
เป็นมะม่วงกินสุก มีรสหวานแหลม แต่เนื้อผลมีเส้นใยมากและมีกลิ่นขี้ใต้ |
|
การปลูก: |
สามารถปลูกด้วย กิ่งตอน กิ่งทาบ การเพาะเมล็ด หรือการเปลี่ยนยอด |
 |
การปลูกด้วยกิ่งตอน ให้ปลูกลึกระดับเดียวกับดินในภาชนะเดิม หรือให้เหลือจุกมะพร้าวที่ใช้ในการตอนสูงกว่าระดับดินเล็กน้อย ไม่ควรกลบดินจนมิดจุกมะพร้าว เพราะจะทำให้เน่าได้ง่าย |
 |
การปลูกด้วยกิ่งทาบ กิ่งติดตา ให้ปลูกลึกระดับเดียวกับดินในภาชนะปลูกเดิม หรือสูงกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ต้องไม่มิดรอยที่ติดตาหรือต่อกิ่งไว้ เพื่อจะได้เห็นว่ากิ่งที่แตกออกมานั้นแตกออกมาจากกิ่งพันธุ์หรือจากต้นตอ ถ้าเป็นกิ่งที่แตกจากต้นตอให้ตัดทิ้งไป |
 |
การปลูกโดยการเพาะเมล็ด โดยการนำเมล็ดมาตัดส่วนปลายออกเล็กน้อย นำไปกดลงในหลุมปลูกให้ลึกประมาณ 3 ส่วนของเมล็ด โดยให้ส่วนโค้งอยู่ด้านบน นำฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้งกลบให้ทั่วหลุมปลูก ลดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ วิธีนี้อาจได้พันธุ์มะม่วงใหม่ๆ |
 |
การปลูกโดยการเปลี่ยนยอด ทำเหมือนกับการเพาะเมล็ด เมื่อต้นโตมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นที่ระดับความสูง 30 ซม. ประมาณ 1 - 2 ซม. นำยอดพันธุ์ที่ต้องการไปเปลี่ยนโดยวิธีเสียบข้าง ในระยะนี้ควรทำที่บังแดดให้กับกิ่งพันธุ์ที่เปลี่ยนไว้ด้วย เมื่อกิ่งพันธุ์ที่ต้องการติดดีแล้วให้ตัดยอดของต้นตอทิ้ง วิธีนี้มักจะได้ต้นมะม่วงที่มีความสูงระดับเดียวกันทั้งสวน
|
วิธีการปลูก |
 |
ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม เพื่อให้มะม่วงตั้งตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากอากาศและดินมีความชุ่มชื้นดี และเป็นการสะดวกที่ไม่ต้องรดน้ำในระยะแรก |
 |
หลุมปลูกควรขุดให้มีขนาดความกว้าง ยาว และลึก ไม่น้อยกว่า 30x30x30 ซม. หากดินในพื้นที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์มากด้วยแล้วต้องขุดหลุมปลูกให้มีขนาดใหญ่ และนำดินที่อุดมสมบูรณ์มาใส่เพื่อให้มะม่วงในระยะแรกเจริญเติบโตได้ดี |
 |
ระยะปลูกระหว่างแถวและระหว่างต้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูกว่าต้องการเช่นไร ในที่นี้ขอแนะนำในระยะ 6x6 ม. |
 |
การปลูก ควรมีหลักไม้ปักกับดินแล้วผูกต้นเพื่อไม่ให้ลมโยกและทำที่บังแสงแดดให้ใน ระยะแรก รดน้ำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ในปีแรกหากมะม่วงติดดอกให้ตัดออกเพื่อให้มะม่วงเจริญเติบโตทางทรงต้นให้สมบูรณ์ดีเสียก่อน |
|
การติดดอกและผล: |
โดยทั่วไปมะม่วงจะออกดอกติดผลในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง ธันวาคม และเก็บเกี่ยวในเดือน มีนาคม ถึง เมษายน (ยกเว้นพวกมะม่วงทะวาย) |
|
การดูแลรักษา: |
ปฏิทินการปฏิบัติการจัดการ |
มกราคม |
แทงช่อดอก ดอกบาน รักษาช่อดอกมะม่วง ป้องกันเพลี้ยจั๊กจั่นและราดำดูดน้ำเลี้ยงทำลายช่อดอกมะม่วง |
กุมภาพันธุ์ |
ผสมเกสร และตัดผลอ่อน ป้องกันกำจัดเพลี้ยจั๊กจั่นดูดน้ำเลี้ยงผลมะม่วงที่ยังเล็กอยู่ ชะล้างช่อดอก และช่อผลมะม่วงด้วย |
มีนาคม |
ผลเจริญเติบโต ใส่ปุ๋ย รดน้ำ หาฟาง เศษใบไม้ หญ้าผุ คลุมผิวดินบริเวณโคนต้นมะม่วง ป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้คอยทำลายผลมะม่วง |
เมษายน |
เปลือกเมล็ดเริ่มแข็ง (เข้าไคล) ฤดูกาลเก็บผลมะม่วง |
พฤษภาคม |
เปลือกเมล็ดเริ่มแข็ง (เข้าไคล) ผลแก่ และเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งมะม่วงหลังจากเก็บผลหมดแล้วใส่ปุ๋ย บำรุงรักษาต้นมะม่วง |
มิถุนายน |
ตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช บำรุงรักษาต้นมะม่วง ฤดูกาลขยายพันธุ์มะม่วงโดยวิธีทาบกิ่ง |
กรกฎาคม |
ตัดแต่งกิ่ง ให้กิ่งแตกใบอ่อน ครั้งที่ 1 ฤดูกาลขยายพันธุ์มะม่วง |
สิงหาคม |
กิ่งแตกใบอ่อนทั้งหมด กำจัดวัชพืช บำรุงรักษาต้นมะม่วง ปราบศัตรูพืชตามความจำเป็น |
กันยายน |
กิ่งแตกใบอ่อน ครั้งที่ 2 กำจัดวัชพืช บำรุงรักษาต้นมะม่วง ปราบศัตรูพืชตามความจำเป็น |
ตุลาคม |
กิ่งเจริญเติบโตสมบูรณ์ กำจัดวัชพืช บำรุงรักษาต้นมะม่วง ปราบศัตรูพืชตามความจำเป็น |
พฤศจิกายน |
กิ่งเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ สุมกิ่งไม้ ใบไม้ หญ้าแห้งระหว่างต้นมะม่วง เพื่อรมควันมะม่วง เพี่อช่วยกระตุ้นในการเกิดช่อดอก และเป็นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอีกทางหนึ่งด้วย |
ธันวาคม |
ระยะเวลาออกช่อดอกมะม่วง ป้องกันกำจัดเพลี้ยจั๊กจั่น และราดำดูดน้ำเลี้ยงทำลายช่อดอกมะม่วง |
|
การติดผล: |
มะม่วงจะออกดอกครั้งหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก แต่จะติดเป็นผลเพียงไม่กี่ผลต่อช่อเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุหลายประการ เช่น ลักษณะของดอกมะม่วง ซึ่งดอกส่วนใหญ่จะเป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถเจริญเป็นผลได้ และปัญหาที่พบอยู่เสมอคือ การเกิดราดำที่ดอก ทำให้ดอกร่วงหล่นเสียเป็นส่วนมาก หรือหมดทั้งต้น ทั้งนี้เพราะว่าที่ดอกมะม่วงจะมีต่อมน้ำหวาน ทำให้แมลงต่างๆ มาดูดกิน โดยเฉพาะพวกเพลี้ย จั๊กจั่น ซึ่งระบาดมากในช่วงมะม่วงออกดอก เพลี้ยจั๊กจั่นนอกจากจะดูดกินน้ำหวานและน้ำเลี้ยงที่ดอกทำให้ดอกร่วงหล่น แล้ว ยังถ่ายมูลออกมาเป็นอาหารของราดำอีกด้วย จึงทำให้ราดำชึ่งมีอยู่แเล้วตามใบและในอากาศเจริญอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่มะม่วงออกดอกนี้ อากาศมักจะหนาวเย็น และมีหมอกมากในตอนเช้า เมื่อหมอกจับตัวเป็นละอองน้ำตามช่อดอกและใบ ราดำก็จะเจริญได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ดอกร่วงหล่นจนหมด จนกลายเป็นความเชื่อว่า ถ้าปีใดมีหมอกจัดในระยะที่ดอกมะม่วงบาน ปีนั้นมะม่วงจะติดผลน้อยเพราะน้ำค้างเค็มทำให้ดอกร่วง ซึ่งความจริงแล้ว น้ำค้างไม่ได้เค็ม แต่เป็นเพราะราดำและเพลี้ยจั๊กจั่นดังกล่าว |
|
การเก็บเกี่ยว: |
ข้อสังเกตง่ายๆ ว่ามะม่วงนั้นแก่เต็มที่ มีสิ่งที่สังเกตุได้ 2 ประการคือ |
1. |
แก้มผลทั้งสองข้างพองโตอูมเต็มที่ ผิวผลเปลี่ยนจากสีเขียวจัดเป็นสีจางลง หรือมีลักษณะคล้ายนวลแป้งเกาะติดผิว |
2. |
โดยเก็บผลมะม่วงมา 2 - 3 ผล นำมาแช่น้ำ หากจมน้ำแสดงว่าแก่จัด ถ้าลอยแสดงว่ายังอ่อนอยู่ (วิธีการนี้ใช้ได้ดีกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้) |
ตัวอย่างของการนับอายุของมะม่วงเพื่อการเก็บเกี่ยว (บางพันธุ์) ดังนี้ |
พันธุ์
|
อายุการเก็บเกี่ยว (วัน) |
นับตั้งแต่ |
เขียวเสวย |
110 |
เริ่มออกดอก |
น้ำดอกไม้ |
100 |
ดอกบานเต็มที่ |
หนังกลางวัน |
110 - 115 |
ดอกบานเต็มที่ |
ทองดำ |
102 |
ดอกบานเต็มที่ |
ฟ้าลั่น |
70 |
หลังช่อดอกติดผล 50% |
แรด |
77 |
หลังช่อดอกติดผล 50% |
พิมเสน |
95 |
ดอกบานเต็มที่ |
|
|
โรค: |
 |
แอนแทรคโนส (anthracnose: Colletotrichum gleosporiodes Penz) ซึ่งทำอันตรายกับทุกส่วนของต้น อาการบนใบจะเห็นเป็นจุดๆ สีน้ำตาลดำ และขยายตัวออกเป็นแผลแห้งๆ ขอบแผลมีสีเข้ม ที่ใบ กิ่ง ช่อดอก และผล ทำให้ใบเป็นรูพรุนทั่วไป ถ้าเป็นกับใบอ่อนหรือยอดอ่อน จะทำให้ใบบิดเบี้ยวและยอดแห้ง ถ้าเกิดที่ดอกจะทำให้ดอกร่วง ถ้าเกิดกับผลอ่อนจะทำให้ผลนั้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต ส่วนผลที่มีขนาดเล็ก ถ้าเป็นโรคนี้อาจร่วงไปเลย |
|
การป้องกันและกำจัด |
|
1. |
ตัด ทำลาย นำไปเผาไฟทิ้ง |
2. |
พ่นสารกันเชื้อรา เช่น ไชเนบ (Zinep), แมนเซทดี (Manzate-D), หรือ เบนเลท 50 จำนวน 10 - 12 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 7 - 10 วัน โดยเฉพาะในระยะที่มีอากาศชุ่มชื้นมาก เช่น ในฤดูฝน |
|
|
แมลง: |
 |
เพลี้ยจั๊กจั่นมะม่วง (Mango hopper: Idiocerus spp.) จะเข้าทำลายมะม่วงตั้งแต่เริ่มออกดอก โดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกและช่อดอก ทำให้ดอกร่วงหล่น ถ้าดูดน้ำเลี้ยงที่ผลอ่อนก็จะทำให้ผลอ่อนร่วงหล่น มะม่วงไม่ค่อยติดผล เพลี้ยจั๊กจั่นมะม่วงยังถ่ายมูลที่มีลักษณะเป็นน้ำหวานออกมาติดอยู่ตามใบ เป็นอาหารของราดำ ทำให้ราดำระบาดจับอยู่ตามใบมะม่วง ทำให้ใบมะม่วงสังเคราะห์อาหารได้น้อยลง |
|
การป้องกันและกำจัด |
|
1. |
ให้พ่นสารเคมี เช่น เซฟวิน ทุก 7 วัน โดยเริ่มต้นเมื่อมะม่วงเริ่มแตกช่อดอก แต่งดเว้นการพ่นสารเคมีเมื่อดอกมะม่วงกำลังบาน |
2. |
โดยการสุมควันที่โคนต้นมะม่วง ให้มีควันมากๆ อาจไล่ให้เพลี้ยจั๊กจั่นหนีไปได้ |
|
|
|
 |
เพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟทำลายพืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอกมะม่วง ยิ่งในระยะที่มะม่วงออกดอก หากเพลี้ยไฟเข้าทำลายช่อดอกโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกร่วง ช่อดอกหงิกงอ ผลอ่อนทำให้เป็นแผลจุดสีดำ ถ้าระบาดรุนแรงผลมะม่วงจะเป็นสีดำเกือบทั้งหมด |
|
การป้องกันและกำจัด |
|
1. |
ถ้าพบไม่มากให้ตัดทำลาย เผาทิ้ง |
2. |
ถ้าพบมากควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงพ่น เช่น Cyhalothrim หรือ โมโนโครโตฟอส หรือคาร์บาริล ฉีดพ่นอย่างน้อย 2 ครั้งเมื่อเริ่มแทงช่อดอก และช่วงมะม่วงติดผลขนาด 0.5 - 1 ซม. หรือเท่ามะเขือพวง |
|
|
|
 |
แมลงวันทอง ตัวเมียจะวางไข่ใต้ผิวของผลมะม่วง เมื่อไข่เจริญเป็นตัวหนอน หนอนจะไชชอนกินเนื้อมะม่วงเป็นอาหาร ทำให้ผลมะม่วงเน่าเสียหายร่วงหล่นได้ |
|
การป้องกันและกำจัด |
|
1. |
ห่อผลมะม่วงด้วยกระดาษหรือใบตองแห้ง |
2. |
ทำลายดักแด้โดยการไถพรวนดินบริเวณโคนต้น หรือใช้สารเคมีฆ่าแมลงพ่นลงดินเพื่อฆ่าดักแด้ เช่น ดีลดริน คลอเดน |
3. |
เก็บผลมะม่วงที่ถูกทำลายโดยแมลงวันผลไม้ที่หล่นโคนต้นทำลายเสีย |
|
|
เอกสารอ้างอิง: |
1. |
ผศ.วัฒนา สวยาธิปัติ. ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ. สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม |
2. |
ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544 |
|
รวบรวมโดย : |
รัตนะ สุวรรณเลิศ หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม |