ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
มะขามหวาน
 
มะขามหวาน
ชื่ออื่นๆ: ขาม หมากขาม ส้มมะขามหวาน
ชื่อสามัญ: Sweet tamarind
ชื่อวิทยาศาสตร์: Tamarind indica L.
วงศ์: LEGUMINOSAE (CAESALPINIACEAE)
ถิ่นกำเนิด: เอเชียใต้ และอัฟริกาตะวันออก
ลักษณะทั่วไป: ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10 - 25 ม. ลำต้นสีเทาดำ เปลือกต้นแตกเป็นร่องตามยาว แตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก กิ่งมีความเหนียวของเนื้อไม้มาก ทรงพุ่มค่อนข้างกลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว มีใบย่อย 24 - 32 คู่ ใบย่อยขนาดประมาณ 0.5x2.0 ซม. ดอกสีเหลืองมีลายเส้นสีแดงเป็นเส้นยาวตามกลีบ ออกดอกเป็นช่อที่กิ่งหรือปลายยอด ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้ 3 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ผลเป็นฝักยาวค่อนข้างกลมมีหลายเมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแดงรูปสี่เหลี่ยม
พันธุ์:
พันธุ์หมื่นจง
ชื่ออื่นๆ : มะขามหวานบ้านนายสิม  พันธุ์นายสิม
แหล่งกำเนิด : ต. ในเมือง อ. หล่มเก่า จ. เพชรบูรณ์  
ลักษณะประจำพันธุ์ 
 
เปลือกต้น : สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ลายแตกของเปลือกต้นหยาบ
ใบ : ใบใหญ่ สีเขียวสด ใบในทรงต้นไม่มาก ไม่หนาทึบ
ผล : เป็นฝักขนาดกลาง ประมาณ 30 - 35 ฝักต่อกิโลกรัม ฝักโค้งเป็นรูปวงฆ้อง บางฝักหัวและท้ายเกือบจรดกัน
เนื้อผล : เนื้อหนา รสหวานและหวานสนิท มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลประมาณ 45.2%
เมล็ด : เล็ก
พันธุ์สีทอง
ชื่ออื่นๆ : มะขามหวานนายหยัด  พันธุ์นายหยัด  พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง
แหล่งกำเนิด : อ. หล่มเก่า จ. เพชรบูรณ์  
ลักษณะประจำพันธุ์
 
เปลือกต้น : สีค่อนข้างขาวนวล ลายแตกของเปลือกละเอียด
ใบ : ใบใหญ่ สีเขียวสด ใบในทรงต้นไม่แน่นอน
ผล : เป็นฝักขนาดใหญ่ (ใหญ่ที่สุดของกลุ่มฝักโค้ง) ประมาณ 25 - 30 ฝักต่อกิโลกรัม ฝักโค้งใหญ่ยาว เปลือกสีขาวนวล
เนื้อผล : เนื้อหนาสีทอง รสหวานจัด มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลมากกว่า 50%
เมล็ด : เล็ก
พันธุ์ศรีชมภู
ชื่ออื่นๆ : พันธุ์น้ำร้อน
แหล่งกำเนิด : อ. เวียงจันทน์ ประเทศลาว นำมาปลูกที่ ต. น้ำร้อน อ. เมือง จ. เพชรบูรณ์  
ลักษณะประจำพันธุ์
 
เปลือกต้น : สีน้ำตาลเข้ม ลายแตกของเปลือกต้นหยาบ
ใบ : ใบใหญ่ สีเขียวแก่ ทรงพุ่มเป็นทรงกระบอกแน่นทึบ ยอดอ่อนสีแดงเข้ม หรือแดงปนเหลือง
ผล : เป็นฝักขนาดใหญ่ ยาวค่อนข้างตรงและกลม เปลือกบางสีน้ำตาลอ่อนปนเทา
เนื้อผล : เนื้อหนาสีน้ำตาลอมเหลือง รสหวานสนิทจนถึงหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
เมล็ด : เล็ก
พันธุ์ขันตี
ชื่ออื่นๆ : -
แหล่งกำเนิด : ต. ท่าพล อ. เมือง จ. เพชรบูรณ์  
ลักษณะประจำพันธุ์
 
เปลือกต้น : สีเทาค่อนข้างขาว ลายแตกของเปลือกต้นละเอียด
ใบ : ใบเล็กหนา สีเขียวเข้ม
ผล : เป็นฝักขนาดใหญ่สั้นค่อนข้างตรงและกลมคอดเป็นข้อๆ เห็นได้ชัด เปลือกบางสีน้ำตาลอ่อนปนเทา
เนื้อผล : เนื้อหนาสีน้ำตาลอมเหลือง รสหวานสนิท
เมล็ด : เล็ก
การปลูก:
การปลูกมะขามหวานเพื่อเป็นการค้า ควรคำนึงถึงชนิดของพันธุ์ที่จะปลูก เช่น
 
1. พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์หนักหรือเบา คือช่วงเวลาในการติดดอกและระยะเวลาในการแก่เต็มที่ของผล ซึ่งควรปลูกทั้ง 2 ชนิด แต่คนละแปลงกัน
2. ชนิดของผลผลิต เช่น ตลาดต้องการมะขามหวานฝักโค้งหรือฝักตรง หากต้องการฝักตรงก็ควรปลูกพันธุ์ศรีชมพูให้มาก หากต้องการสีผิวฝักสวยก็ควรปลูกพันธุ์สีทองให้มากกว่าพันธุ์อื่นๆ
มะขามหวานมักนิยมปลูกจากต้นกล้าที่ได้จากการทาบกิ่ง โคนกิ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ความสูงประมาณ 1.0 - 1.5 ม. มีกิ่งแขนง 2 - 3 กิ่ง เป็นทรงพุ่มสวย ไม่บิดเบี้ยวคดงอโค้งหาพื้นดิน ใบใหญ่สมบูรณ์ เขียวเข้ม ต้นแข็งแรงเปลือกต้นไม่ซูบซีดแคระแกรน หรือเป็นแผล มะขามจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกไปแล้ว 3 - 4 ปี
ระยะห่างของหลุมปลูกในระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว ควรเป็น 10x10 ม.
การดูแลรักษา:
การให้ปุ๋ย  ควรทำให้ดินมีความร่วนซุยและอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เช่น มูลสัตว์ ปุ๋ยพืชสดไถกลบหรือคลุมดิน
การให้น้ำ  มะขามหวานต้องมีการขาดน้ำในช่วงที่ผลหรือฝักไกล้แก่ คือเมล็ดเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล ฝักแก่เก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่ง ทิ้งใบ จนถึงแตกยอดอ่อน เมื่อแตกยอดอ่อนได้ประมาณ 1 อาทิตย์ หรือแตกเกือบทั้งต้น จึงเริ่มให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนถึงออกดอก ติดฝัก เมล็ดเริ่มเปลี่ยนสีจึงหยุดให้น้ำอีก เป็นดังนี้เรื่อยไป
โรค แมลง และ
การป้องกันกำจัด:
ควรหมั่นดูแลพื้นที่ให้สะอาดไม่เป็นที่หมักหมมอับชื้น และตัดแต่งกิ่งพืชให้โปร่งมีแสงแดดส่องลงสู่พื้นดินได้อย่างทั่วถึง ลมสามารถโชยพัดผ่านได้สะดวก
หมายเหตุ:
มะขามหวานจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกไปแล้ว 3 - 4 ปี
เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี
ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือน ธันวาคม - กุมภาพันธ์
ระยะเวลาติดดอกจนถึงดอกบานประมาณ 20 วัน
ระยะเวลาหลังดอกบานจนถึงฝักแก่ประมาณ 8 เดือน
ต้นอายุประมาณ 10 ปีจะให้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัมต่อต้น
ผล 30 - 45 ฝัก จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม
เอกสารอ้างอิง:
1. ศูนย์ผลิตตำราเกษตรเพื่อชนบท.  มะขามหวาน.  กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ
ฐานเกษตรกรรม
2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
รวบรวมโดย: รัตนะ สุวรรณเลิศ
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม