ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ตะไคร้ ตะไคร้
ตะไคร้
 
ตะไคร้
ชื่ออื่นๆ: ตะไคร้แกง (ภาคกลาง)  จะไคร้ (ภาคเหนือ)  ไคร (ภาคใต้)  ข่าหอม (แม่ฮ่องสอน)  หัวสิงโต (ปราจีนบุรี)
ชื่อสามัญ: Lemon grass, Lapine, West Indian lemongrass, Sweet rush
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cymbopogon citratus Stapf.
วงศ์: POACEAE (GRAMINEAE)
ถิ่นกำเนิด: ตะไคร้เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยเรามาตั้งแต่อดีตแล้ว ทั้งนี้เพราะตะไคร้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น ไทย พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น และยังสามารถพบได้ในประเทศเขตร้อนบางประเทศในแถบอเมริกาใต้เช่นกัน ตะไคร้จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าและสามารถแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม ตะไคร้กอ ตะไคร้ต้น ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางนาค และตะไคร้หางสิงห์
ลักษณะพฤกษศาสตร์: เป็นพืชล้มลุก ในวงศ์หญ้า (POACEAE) ความสูงประมาณ 4-6 ฟุต ใบยาวเรียว ปลายใบมีขนหนาม ลำต้นรวมกันเป็นกอ มีกลิ่นหอม เป็นช่อยาวมีดอกเล็กฝอยเป็นจำนวนมาก ตะไคร้เป็นพืชที่สามารถนำส่วนต้นหัวไปประกอบอาหาร และจัดเป็นพืชสมุนไพรด้วย
สรรพคุณด้านสมุนไพร:
บำรุงไตและขับปัสสาวะ ตะไคร้มีสรรพคุณช่วยบำรุงไตให้แข็งแรง ช่วยให้ไตทำงานได้ดี อีกทั้งยังช่วยในการชำระล้างและกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายออกจากร่างกาย
บรรเทาอาการปวดและการอักเสบ ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดและการอักเสบจากโรคไขข้อ ช่วยลดอาการบวมอักเสบ ลดอาการปวดเมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก
แก้อาการนอนไม่หลับ ชาตะไคร้ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อจากความเมื่อยล้าและยังช่วยบำรุงเส้นประสาทจึงทำให้นอนหลับสบายขึ้น
ไล่แมลง ตะไคร้หอมเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยมากกว่าตะไคร้บ้าน มีกลิ่นหอมตรงระหว่างใบกับกาบ สามารถใช้เป็นยาทาไล่ยุง ไล่แมลง และยังไม่เป็นพิษต่อคนอีกด้วย โดยทุบตะไคร้หอมพอหยาบๆ 4-5 ต้น แล้วนำไปวางตามมุมอับกลิ่น น้ำมันที่ระเหยออกของตะไคร้หอมจะช่วยไล่ยุง
แก้หวัด ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่ช่วยแก้หวัดได้ดี เนื่องจากมีประโยชน์ในการลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวางในการบรรเทาอาการหวัดโดยจะช่วยขับเหงื่อ
รักษาโรคเบาหวาน ตะไคร้ได้รับการวิจัยแล้วว่ามีส่วนช่วยรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ตะไคร้จะช่วยรักษาระดับอินซูลินในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มความทนทานต่อกลูโคสของร่างกาย
บำรุงระบบประสาทและสมอง ตะไคร้เป็นยาบำรุงระบบประสาทชั้นดี บรรเทาความเครียด ช่วยคลายความวิตกกังวลและความเหนื่อยล้าที่เกิดจากความเครียด
ลดคอเลสเตอรอล ตะไคร้มีสรรพคุณป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง โดยจะช่วยรักษาระดับไตรกลีเซอไรด์และลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) จึงช่วยป้องกันการสะสมของไขมันในเส้นเลือด
แก้เวียนศีรษะ หน้ามืด ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ โดยทุบตะไคร้พอหยาบๆ 4-5 ต้น เพื่อให้ได้กลิ่นแล้วนำไปสูดดมกลิ่นที่ระเหยออกมาของตะไคร้จะช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้
ข้อมูลอื่นๆ:
การขยายพันธุ์ตะไคร้ ตะไคร้สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการปักชำต้นเหง้า โดยตัดใบออกให้เหลือตอนโคนประมาณหนึ่งคืบ นำมาปักชำไว้สักหนึ่งสัปดาห์ก็จะมีรากงอกออกมา แล้วนำไปลงแปลงดินที่เตรียมไว้ สำหรับวิธีการปลูกตะไคร้มีดังนี้
- การเตรียมดิน ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย ให้ไถพลิกดินและไถพรวนลึกประมาณ 0.5 เมตร แล้วทำหลุม แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 0.5 เมตร
- ปลูกหลุมละ 3 ต้น กลบดินให้พอมิดรากตะไคร้ประมาณ 10 เซนติเมตร
- ช่วงแรกรดน้ำทุกวัน แต่ระวังอย่าให้น้ำเข้าไส้ตะไคร้เวลารดน้ำให้รดทีโคนต้นตะไคร้เท่านั้น มิฉะนั้นต้นตะไคร้จะเน่า ห้ามใช้สปริงเกอร์เป็นอันขาดต้องให้น้ำที่โคนเท่านั้น
- ในช่วง 3 วันแรกที่ปลูกให้พรางแสงแดดให้ตะไคร้ด้วย หลังจากตะไคร้ปรับตัวได้แล้วให้เอาวัสดุพรางแสงออกเพราะธรรมชาติของตะไคร้ชอบแดด และเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงจ้า
- เมื่อผ่านไป 1 เดือนตะไคร้จะเริ่มตั้งกอ ให้สังเกตที่ต้น ถ้าต้นเจริญเติบโตดี ลำต้นจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรก็สามารถตัดไปใช้หรือขายได้ การตัดตะไคร้ให้ตัดติดกอ แต่อย่าให้สะเทือนรากที่อยู่ในดินเพราะตะไคร้สามารถแตกขึ้นมาตั้งกอได้อีก ไม่ต้องหาต้นพันธุ์มาปลูกใหม่แทน
- เมื่อตัดควรตัดให้หมดกอ เพื่อต้นตะไคร้ที่แตกใหม่จะได้เติบโตได้เต็มที่
- หลังจากตัดแล้วตะไคร้จะตั้งกอใหม่ภายในเวลา 1-2 เดือนเมื่อตะไคร้โตเต็มที่แล้วก็สามารถตัดได้อีกเรื่อยไปจนกว่าต้นจะโทรม หรือตะไคร้ไม่แตกขึ้นมาอีก
- ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย แต่ก็สามารถเจริญได้ในดินแทบทุกชนิด เป็นพืชที่ดูแลง่ายชอบน้ำชอบแดดจ้า เป็นพืชทนแล้งได้ดี และเป็นพืชที่มีโรคน้อย ศัตรูพืชก็ไม่ค่อยมี (น่าจะเกิดจากการที่ตะไคร้มีน้ำมันหอมระเหย ตะไคร้ในทุกๆ ส่วนจึงสามารถป้องกันจากแมลงต่างๆ ได้)
คุณค่าทางโภชนาการของ ตะไคร้ 100 กรัม
 
พลังงาน 99 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 25.31 กรัม วิตามินซี 2.6 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.065 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.135 มิลลิกรัม วิตามินบี3 1.101 มิลลิกรัม
วิตามินบี6 0.080 มิลลิกรัม แคลเซียม 65 มิลลิกรัม โฟเลต 75 ไมโครกรัม
ธาตุเหล็ก 8.17 มิลลิกรัม ทองแดง 0.266 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 60 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 723 มิลลิกรัม สังกะสี 2.23 มิลลิกรัม  
อ้างอิงจาก USDA National Nutrient data base
เอกสารอ้างอิง:
1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
2. http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_12_2.htm
3. https://health.mthai.com/howto/health-care/29439.html
4. ตะไคร้ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท (087-166-5251)
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม