ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ขี้กาแดง
 
ขี้กาแดง
ชื่ออื่นๆ: แตงโมป่า มะกาดิน ขี้กาขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gymnopetalum integrifolim Kurz.
วงศ์: CUCURBITACEAE
ลักษณะพฤษศาสตร์: ไม้เถาเลื้อยพาดพันกับสิ่งยึดเกาะที่อยู่ใกล้ๆ เถา มีขนสีขาวสั้นตั้งตรงเกาะติดหนาแน่น ใบ เป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบเวียนและมีหนวดที่โคนก้านใบ ใบรูปไข่เกือบกลม 5 เหลี่ยม ขนาดประมาณ 10x15 ซม. ปลายแหลม โคนเว้าเป็นติ่งหู ขอบหยักบิดเป็นคลื่น แผ่นใบผิวหยาบสากเป็นลอนตามรอยกดเป็นร่องของเส้นใบ หลังใบมีขนสั้นสีขาวจำนวนมาก ก้านใบสีเขียวอ่อนแกมเหลืองยาว มีขนชนิดเดียวกัน ดอก เป็นดอกเดี่ยวแยกเพศกัน เกิดที่ซอกใบ ดอกสีขาวกลีบดอกส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 4 - 5 กลีบ ดอกเพศเมียที่ฐานดอกมีรังไข่ทรงกลม ดอกเพศผู้ไม่มี ผล ทรงกลม ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว มีริ้วสีขาวจางๆ เมื่อแก่สีส้มแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ด ทรงกลมรีแบนมีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นเมือกใสสีเขียวเข้มเกือบดำ
สรรพคุณด้านสมุนไพร:
ใบ รสขม ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ
หัว รสขม บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต
ราก รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด บดทาฝีฝักบัว แก้ตับโต ม้ามย้อย อวัยวะในช่องท้องบวมโต
ผล รสขม บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้ควันรม แก้หืด
ทั้งเถา รสขม ต้มอาบ แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษ ไข้กาฬ ต้มดื่ม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด
เอกสารอ้างอิง:
1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.  2544
รวบรวมโดย: ไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม