ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กล้วยน้ำว้า
 
กล้วยน้ำว้า
ชื่ออื่นๆ: กล้วยมะลิอ่อง กล้วยกะลิอ่อง มะลิอ่อง กล้วยไข่ กล้วยใต้ กล้วยส้ม กล้วยหอม กล้วยนาก กล้วยเล็บมือ กล้วยหอมจันทร์ กล้วยหักมุก เจก ยาไข่ สะกุย
ชื่อสามัญ: Banana, Cultivated banana
ชื่อวิทยาศาสตร์: Musa sapientum L.
วงศ์: MUSACEAE
ลักษณะพฤษศาสตร์: พืชล้มลุก ลำต้นใต้ดินอวบน้ำ สูงประมาณ 2 - 5 ม. ใบ เป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนลำต้นแบบเวียนถี่ชิดอัดแน่นที่ลำต้น ใบรูปขอบขนาน ขนาดใหญ่ประมาณ 40x200 ซม. ปลายและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มด้านใต้สีอ่อนกว่าและมีสิ่งเกาะติดคล้ายผงแป้งสีขาว ก้านใบ แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเกาะติดกับลำต้นมีลักษณะแบนโค้งอวบน้ำสีเขียวบนน้ำตาลแดง (ส่วนนี้เห็นคล้ายลำต้น) ส่วนที่สองทรงกลมส่วนกลางเป็นร่องโค้งลึกตามทรงก้านสีเขียวอ่อนยาวเรียวไปจน สุดปลายแผ่นใบ ดอก ออกเป็นช่อ ที่ปลายยอดปลายช่อโค้งห้อยลง มีกาบประดับขนาดใหญ่ที่โคนกลุ่มดอกย่อยทุกๆ กลุ่ม กาบมีเนื้อหนาสีแดงเข้ม เมื่อรังไข่เจริญเป็นผลกาบประดับจะหลุดร่วงไป ผล เป็นผลสด รูปทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ซม. ยาว 10 ซม. เมล็ด ทรงกลมสีดำผิวเป็นคลื่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.50 ซม.
สรรพคุณด้านสมุนไพร:
ผลดิบหรือห่าม ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และเป็นแผล และแก้ท้องเสียไม่รุนแรง
ผลสุก ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ท้องอืด ป้องกันโรคโลหิตจาง โรคเลือดออกตามไรฟัน บำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ลดการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีการไอแห้งร่วม
เอกสารอ้างอิง:
1. http://www.healthnet.in.th/text/forum2/vet/006.htm
2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.  2544
รวบรวมโดย: ไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม