ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กะเพราแดง กะเพราขาว
 
กะเพรา
ชื่ออื่นๆ: กะเพราแดง กะเพราขาว ก่ำก้อขาว ก่ำก้อดำ กอมก้อขาว กอมก้อดำ ห่อตูปลู ห่อกวอซู
ชื่อสามัญ: Ocimum
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum sanctum Linn.
วงศ์: LABIATAE
ลักษณะพฤษศาสตร์: ไม้ล้มลุกอายุยืน แตกกิ่งก้านสาขามาก สูงประมาณ 30-80 ซม. โคนลำต้นมีเนื้อไม้แข็ง กิ่งอ่อนสีเขียวและมีขน ใบเป็น ใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ทรงใบรูปรี ขนาดประมาณ 2x4 ซม. ปลายและโคนใบมนแหลม ขอบใบเป็นจักรและเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ที่ปลายยอด ยาวประมาณ 8-10 ซม. ดอกย่อย มีขนาดเล็ก รูปคล้ายระฆัง กลีบดอกมีทั้งชนิดสีขาวลายม่วงแดงและสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนแยกเป็น 4 กลีบปลายแหลมเรียว ส่วนล่างมีกลีบเดียวค่อนข้างกลม ผิวกลีบเลี้ยงด้านใน ด้านนอกมีขนตามโคนกลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงน้ำตาลแกมม่วง และสีเขียว เนื้อกลีบแข็ง ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ ปลายแหลมแบบหนาม ก้านดอกย่อยสีเขียว ยาวประมาณ 0.2-0.3 ซม. ผลเป็นแบบแห้งแล้วแตก เมล็ดขนาดเล็ก รูปไข่สีน้ำตาลดำ
สรรพคุณด้านสมุนไพร:
ใบ บำรุงธาตุไฟ ขับลมแก้ปวดท้อง แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน
เมล็ด เมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย
ราก ใช้รากที่แห้งแล้ว ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ
เอกสารอ้างอิง:
1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.  2544
รวบรวมโดย: ไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม