ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
เจตมูลเพลิงแดง เจตมูลเพลิงแดง
เจตมูลเพลิงแดง
 
เจตมูลเพลิงแดง
ชื่ออื่นๆ: ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ) คุยวู่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ตั้งชู้โว้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ไฟใต้ดิน (ภาคใต้) อุบะกูจ๊ะ (มลายู-ปัตตานี) จื่อเสี่ยฮวา, หงฮวาตัน (จีนกลาง) และ เจ็ดหมุนเพลิง
ชื่อสามัญ: Indian Leadwort, Rose-colored Leadwort, Rosy Leadwort, Fire Plant, Official Leadwort
ชื่อวิทยาศาสตร์: Plumbago indica L.  ชื่อพ้องอื่นๆ Plumbago rosea L.
วงศ์: PLUMBAGINACEAE
ถิ่นกำเนิด: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น
ลักษณะทั่วไป: เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุหลายปี สูงราว 1-1.5 ม. กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนสีแดง ลำต้น กลมเรียบ กิ่งอ่อนสีเขียวปนแดง มีสีแดงบริเวณข้อ ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่ กว้าง 3-5 ซม. ยาว 8-13 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน มีสีเขียว ใบบาง แผ่นใบมักบิด ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 10-15 ดอก ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด กลีบดอกสีแดงสด กลีบบางมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กๆ ยาว 2.5-3.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายกลีบกลม เป็นติ่งหนามตอนปลาย ใบประดับย่อยรูปไข่ขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.3 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาดมีขนยาวที่โคน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก เป็นหลอดเล็ก ยาว 0.5-1 ซม. สีเขียว และมีขนเหนียวๆปกคลุม เมื่อจับรู้สึกเหนียวมือ ผล ลักษณะเป็นฝักกลม ทรงรียาว เป็นผลแห้งเมื่อแก่แตกตามร่องได้ พบตามป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าดิบแล้ง ยางจากรากเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ไหม้ พอง เหมือนโดนไฟจึงได้ชื่อว่า "เจตมูลเพลิง"
ฤดูการออกดอกติดผล: ปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน
การขยายพันธุ์:
การชำส่วนของลำต้น คือการตัดส่วนของยอดและส่วนของลำต้น ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 2 ข้อของลำต้น นำมาชำด้วยวัสดุปักชำขี้เถ้าแกลบใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน จะสามารถนำไปปลูกลงถุงเพื่อเลี้ยงให้ต้นแข็งแรงก่อนนำไปปลูกในแปลง วิธีนี้จะได้ผล 40-50%
การชำราก คือการตัดส่วนของรากที่อยู่ใต้ดินนำมาชำกับวัสดุปักชำตัดรากยาวประมาณ 2 นิ้ว ใช้เวลา 60-90 วันจะเริ่มแตกยอดและรากใหม่ 6 เดือนพร้อมปลูกได้ วิธีนี้จะได้ผล 80-90%
ข้อมูลเพิ่มเติม ผู้เชี่ยวชาญ นายพรหมมินทร์ สายนาคำ คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง
ข้อดีของพันธุ์ไม้: เป็นสมุนไพรที่มีดอกสวยงาม สามารถปลูกเป็นสมุนไพรและไม้ประดับในคราวเดียวกันได้ดี
ข้อแนะนำ: ข้อควรระวังคือ ในการจับต้องรากของเจตมูลเพลิงขณะเก็บเกี่ยวนั้น ต้องสวมถุงมือเสียก่อน เพื่อป้องกันอาการปวดแสบปวดร้อน เนื่องจากฤทธิ์ของสมุนไพรสด
ข้อมูลอื่นๆ: ผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกเจตมูลเพลิงแดง หรือต้องการซื้อต้นพันธุ์ หรือรากเจตมูลเพลิงแห้งขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุภกร ศรีคำแหง (ลุงโต้ง) ผู้แทนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ตำบลพลับพลาไชย บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 8 ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 โทร. (089) 743-1009
หมายเหตุ: ราก มีสารพวก แนฟธาควิโนน (naphthaquinone) ชื่อ plumbagin, 3-chloroplumbagin, 6-hydroxyplumbagin, plumbaginol ยางจากรากเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ไหม้ พอง เหมือนโดนไฟจึงได้ชื่อว่า "เจตมูลเพลิง"
เอกสารอ้างอิง:
1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  หน้า. 320
2. พฤกษาพัน PLANT MATERIALS IN THAILAND หน้า. 125
3. http://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Plumbago+indica
4. http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_26_4.htm
5. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=38
6. http://thaiherbal.org/922/922
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท (087-166-5251)
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม