|
รางจืด |
ชื่ออื่นๆ: |
กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว (ภาคกลาง) คาย รางเย็น (ยะลา) จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดุเหว่า (ปัตตานี) ทิดพุด (นครศรีธรรมราช) น้ำนอง (สระบุรี) ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์) |
ชื่อสามัญ: |
laurel clock vine, blue trumpet vine, laurel-leaved thunbergia |
ชื่อวิทยาศาสตร์: |
Thumbergia laurifolia Lindl. |
วงศ์: |
ACANTHACEAE |
ถิ่นกำเนิด: |
คาบสมุทรอินเดีย อินโดจีน ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และไต้หวัน |
การขยายพันธุ์: |
การปักชำ ในทรายหรือแกลบในช่วงฤดูฝนจะออกรากเร็วกว่าในฤดูอื่นๆ |
ข้อดีของพันธุ์ไม้: |
สามารถปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนแล้ง ไม่ต้องดูแลรักษามาก |
สรรพคุณตามตำรายาไทย: |
จัดเป็นยารสเย็นใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และพิษอื่นๆ ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง และแก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ ใช้แก้พิษเบื่อเมาเนื่องจากเห็นพิษ สารหนู หรือยาฆ่าแมลง |
การศึกษาทางพฤกษเคมี: |
สาระสำคัญที่พบในรางจืดเมื่อทำการสกัดคือ กลุ่ม flavonoid, phenolic, apigenin, cosmosin dolphinidin 3.5-di-O-B-D-glucoside, clorogenic acid, caffeic acid การสกัดด้วยการต้ม พบว่าให้ปริมาณสาระสำคัญ และทำให้ได้สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาอื่นที่น่าสนใจของรางจืด ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัสเริม ต้านการอักเสบรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ข้อควรระวัง ในกรณีของผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ โรคหอบหืด และหญิงตั้งครรภ์ |
การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรรางจืด: |
สามารถนำทั้งใบและรากมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น ส่วนใบนำมาต้ม ดื่มขณะอุ่นๆ หรือนำใบมาคั้นดื่ม รวมทั้งสามารถแปรรูปในแบบชาชง หรือชาชงรางจืด และส่วนรากที่มีอายุเกิน 1 ปี มีขนาดเท่านิ้วชี้ (รากมีตัวยามากกว่าใบ 4-7 เท่า) นำมาฝนกับน้ำ แล้วดื่มเพื่อเป็นการล้างพิษในร่างกายรวมทั้งบรรเทาพิษเฉพาะหน้า ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
|
การทำน้ำคั้นสดจากใบสมุนไพรรางจืด |
1. |
นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด |
2. |
โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำดื่ม หรือน้ำซาวข้าว |
3. |
คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้ง
|
การทำยาฝนจากรากสมุนไพรรางจืด |
1. |
นำรางรางจืดอายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดเท่านิ้วชี้ มาล้างให้สะอาด |
2. |
โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาด หรือน้ำซาวข้าว |
3. |
รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้ง
|
น้ำต้มสมุนไพรรางจืด |
1. |
นำใบรางจืดแบบสด จำนวน 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด |
2. |
นำลงไปต้มกับน้ำเต็มกา ดื่มขณะอุ่น |
3. |
ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 4-5 ครั้ง
|
ชาชงสมุนไพรรางจืด |
1. |
นำใบรางจืดมาล้างให้สะอาด |
2. |
หั่นใบรางจืดให้เป็นฝอย |
3. |
นำไปผึ่งลมให้แห้ง |
4. |
ใช้ขนาด 6 กรัม นำมาชงในน้ำร้อน |
วิธีรับประทาน |
1. |
เกษตรกรกลุ่มเสี่ยง (เกี่ยวกับยาฆ่าแมลง) รับประทานครั้งละ 6 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (75 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน |
2. |
เพื่อส่งเสริมสุขภาพ รับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (75 มิลลิลิตร) วันละ 1 ครั้ง |
|
ข้อมูลอื่นๆ: |
ในคนที่ได้รับสารพิษฆ่าแมลง ทั้งชนิดออร์กาโนฟอสเฟส (organophostpate) คาร์บาเมต (carbamate) และอาการที่เกิดขึ้น คือ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อย และระบบสมองเสื่อมเร็ว รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นมะเร็ง ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกสมุนไพรรางจืดมาทำการรณรงค์เพื่อใช้ล้างพิษในกระแสเลือดให้เกษตรกร ซึ่งรางจืดเป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยทั้งในห้องทดลองและการศึกษาในคนมากกว่า 30 ปีแล้ว โดยการศึกษาทางเภสัชวิทยาของรางจืดครั้งแรกเริ่มจาก แพทย์หญิงพาณี เตชะเสน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ารางจืดสามารถช่วยชีวิตแมวของท่านที่ถูกวางยาพิษได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทำการศึกษาวิจัยรางจืดในการแก้พิษสารกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ พ.ศ. 2522-2523 โดยเริ่มจากสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (เช่น โฟลิดอล พาราไทออน) ต่อมามีการศึกษาพบว่า รางจืดยังสามารถลดพิษของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มคาร์บอเนต เช่น เมโทรมิล เป็นต้น จากการศึกษาวิจัยการต้านฤทธิ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของรางจืดนั้นอาจเกิดจากหลายกลไก เช่น สารสกัดรางจืดทำให้ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสเพิ่มขึ้น หรือลดการยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ทำลายโคลีนที่เป็นสาร สื่อประสาท ที่ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต จะไปทำลายเอนไซม์ตัวนี้ และเกิดการสะสมของโคลีนทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง นำสู่อาการชัก จากการศึกษาพบว่ารางจืดไปเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ดังกล่าว
รางจืด... แก้พิษจากยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหญ้าจำพวกพาราควอต นับเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงต่อร่างกายมนุษย์มากที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากในขนาดกินประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ก็สามารถทำให้คนตายได้ โดยสารตัวนี้จะไปทำให้เกิดการสร้างออกซิเจนที่ไม่เสถียรขึ้นอย่างมาก ออกซิเจนเหล่านี้จะไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ เกิดการออกซิเดชันของไขมันที่อยู่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์และทำให้เซลล์ตาย พิษของพาราควอตจะเห็นชัดที่สุดในปอด เพราะปอดเป็นบริเวณที่มีออกซิเจนมากที่สุด ซึ่งพาราควอตจะทำให้เนื้อเยื้อปอดถูกทำลายจนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้จนเสียชีวิตในที่สุด จากรายงานผู้ป่วยของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี เก็บตัวอย่างเป็นเวลา 3 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2533-2535 มีผู้ป่วยที่กินพาราควอตมาที่โรงพยาบาล 64 ราย พบว่ามีผู้ป่วยรอดชีวิต 33 ราย เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังกับการรักษาในช่วง พ.ศ. 2531-2531 มีผู้ป่วยที่กินพาราควอต 11 ราย พบว่าเสียชีวิตทุกราย ซึ่งตัวเลขของโรงพยาบาลศิริราชที่มีการรักษาพิษพาราควอตเช่นเดียวกัน มีอัตราการตายประมาณร้อยละ 80 แต่การรักษาพิษพาราควอตนั้นไม่ได้ให้แต่รางจืดอย่างเดียว แต่จะมีการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาก่อน แล้วล้างท้องด้วยฟูลเลอร์สเอิร์ท (Fuller's earth) และทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมามากๆ ให้แอนติออกซิแดนซ์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ โดยการให้วิตามินซีปริมาณสูงๆ และสตีรอยด์ รวมทั้งการรักษาแบบประคับประคองอื่นๆ ให้ยาต้มรางจืด วิธีเตรียมคือนำใบแห้งหนัก 300 กรัม ใส่ในน้ำสะอาด 1 ลิตร ต้มในหม้อดินโดยใช้ไฟกลางเดือดนาน 15 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น ให้ผู้ป่วยดื่มหรือให้ทาง NG tube ครั้งละ 200 มิลลิลิตร ทุก 2 ชั่วโมง ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล แม้ว่ารายงานนี้ไม่ถือเป็นงานวิจัย แต่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก
พ.ศ. 2543 มีรายงานการศึกษาสัตว์ทดลองเกี่ยวกับการต้านพิษพาราควอตของสารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืด พบว่าสามารถทำให้อัตราการตายของหนูทดลองลดลง รวมทั้งพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดรางจืดมีระดับพลาสม่า malondialdehyde (MDA) ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แสดงว่าสารสกัดใบรางจืดมีฤทธิ์ยับยั้ง lipid peroxidation และฤทธิ์นี้เป็นกลไกการออกฤทธิ์ต้านพิษพาราควอตกลไกหนึ่งของรางจืด รวมทั้งรางจืดยังไปเพิ่มกิจกรรมของเอนไซม์ที่เรียกว่า NADPH quinineoxidonnereductase เป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายสารที่เราได้รับเข้าไปในร่างกาย
รางจืด... แก้พิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ ใช้แก้พิษแมงดาทะเลเป็นอีกหนึ่งรายงานของการใช้รางจืดแก้พิษ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 ที่โรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีครอบครัวหนึ่ง 4 คนที่กินไข่แมงดาทะเล 2 ราย มีอาการรุนแรงจนหมดสติต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งสารพิษที่อยู่ในแมงดาทะเล คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) สารนี้จะพบในแมงดาทะเลและปลาปักเป้า ซึ่งมีพิษทำให้ผู้ป่วยอาจถึงตายได้
ความรุนแรงของอาการพิษที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับปริมาณไข่แมงดาทะเลที่ได้รับ เริ่มแสดงอาการตั้งแต่ 40 นาทีถึง 4 ชั่วโมง ทุกรายมีอาการชารอบปาก คลื่นไส้ อาเจียน อาการชาจะลามไปยังกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่เป็นอันตราย คือทำให้หายใจไม่ได้ อาการรุนแรง หมดสติ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ วิธีการรักษาปัจจุบันไม่มีวิธีเฉพาะ ไม่มีสารแก้พิษโดยเฉพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคองจนผู้ป่วยขับเอาสารนี้ออกจากร่างกายให้หมด แพทย์ผู้รักษาใช้รางจืดจากการร้องขอของญาติ เมื่อกรอกใส่สายยางลงไป 40 นาที อาการดีขึ้น ซึ่งแพทย์ผู้รักษารู้สึกประทับใจกับรางจืดมาก และบอกว่าจังหวัดที่อยู่ชายทะเลปีหนึ่งจะมีคนตายจากพิษแมงดาทะเลหรือปลาปักเป้าทุกปี ถ้าทุกโรงพยาบาลสามารถปลูกต้นนี้และใช้กับผู้ป่วยของตัวเอง จะช่วยให้ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
รางจืด... สู้กับมลภาวะ ออกฤทธิ์ต้านพิษของตะกั่วต่อสมอง ตะกั่วเป็นมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีรถติด มีโอกาสได้รับสารตะกั่วสูงกว่าคนทั่วไป พิษตะกั่วต่อร่างกายมีอยู่หลายระบบ ที่สำคัญคือ สมอง เนื่องจากตะกั่วจะไปสะสมอยู่ในสมองส่วนฮิปโพแคมพัส ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำ มีงานวิจัยออกว่า รางจืดแม้จะไม่ได้ช่วยลดระดับตะกั่วในเลือดของหนูที่เราให้ตะกั่วเข้าไป แต่ไปช่วยลดพิษของตะกั่วต่อความจำและการเรียนรู้ของหนู และทำให้เซลล์ประสาทตายน้อยลง ด้วยกลไกการต้านออกซิเดชันโดยตัวของรางจืดเอง และการไปช่วยรักษาระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้อง
รางจืดช่วยในการลด เลิกยาบ้า จากการที่ชาวบ้านนำรางจืดมาแก้พิษยาเสพติดภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดรางจืดต่อเซลล์สมอง พบว่ารางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายกับสารเสพติดแอมเฟทามีน และโคเคน โดยทั่วไปเพิ่มการหลั่งโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่หลั่งมากในขณะที่ผู้ป่วยได้รับสารแอมเฟทามีน รวมทั้งไปเพิ่ม activity ของเซลล์ประสาทในสมองส่วน nucleus accumbens, globus pallidus, amygdala, frontal cortex, caudate putamen and hippocampus ที่เกี่ยวข้องกับ reward and locomotor behaviour ทำให้คาดว่า ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดรางจืด อาจเกิดความพิงพอใจเช่นเดียวกับการรับยาเสพติด หากนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุรนทรายมาก จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทีการรักษาด้วยสารสกัดสมุนไพรได้ผล
รางจืด... ต้านพิษเหล้า จากการที่ประชาชนส่วนหนึ่งได้นำรางจืดมาใช้ในการต้านพิษสุรา เช่น ใช้เพื่อป้องกันหรือลดอาการเมาเหล้า คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืดในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ พบว่าสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ ทั้งในหลอดทดลองและในหนูแรตทีได้รับแอลกอฮอล์ โดยทำให้ค่า AST, ALT ในพลาสม่าและไตรกลีเซอร์ไรด์ในตับลดลง และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางจุลพยาธิวิทยาของตับ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับเเอลกอฮอล์อย่างเดียว เนื่องจากสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วยลดการเกิด heppatic lipid peroxidation ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด และเพิ่มระดับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase และ aldehyde dehydrogenase ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้า พบว่าสารสกัดรางจืดให้ผลลดภาวะซึมเศร้า และทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหนูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่มีผลลดความวิตกกังวล โดยสารสกัดรางจืดช่วยลดการถูกทำลายเซลล์ประสาทของหนูเนื่องจากขาดเหล้าในสมองส่วน messolimbic dopaminergic system โดยเฉพาะที่บริเวณ nucleus accumbens และ ventral tegmental area
รางจืด... เพื่อคุณภาพชีวิตของโรคเรื้อรัง การที่มีหมอยาพื้นบ้านจำนวนหนึ่งใช้รางจืดในการคุมเบาหวานและความดัน ซึ่งมีการทดลองที่สนับสนุนการใช้ดังกล่าวคือ หนูเบาหวานที่ได้รับน้ำต้มใบรางจืดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนน้ำคั้นใบรางจืดสดในขนาด 50 มก./มล. ที่ให้หนูเบาหวานดื่มแทนน้ำนาน 12 วัน ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองพบว่าการให้สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และทำให้บีต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์ ในเรื่องของฤทธิ์ลดความดันนั้น พบว่าสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดแห้งมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูแรตลดลง โดยกลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งอาจผ่าน Cholinergic receptor และทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว
หมายเหตุ: การใช้สมุนไพรในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันนี้พึงระลึกว่า ต้องมีการรักษาร่วมไปกับแผนปัจจุบัน และมีการวัดระดับน้ำตาลและระดับความดันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการศึกษายังอยู่ในขั้นตอนของสัตว์ทดลองเท่านั้น รวมทั้งต้องระมัดระวังการเกิดการเสริมฤทธิ์กันของตัวยาดังกล่าว
รางจืด… ต้าน แก้อักเสบ การที่หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้รางจืดมารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น ผด ผื่นคัน แมลงกัดต่อย เริม งูสวัด มีการศึกษาว่ารางจืดมีฤทธิ์ต้านการอับเสบสูงกว่ามังคุดประมาณ 2 เท่า (ทดสอบด้วยวิธี Carrageenan induced paw edema) ในหนูถีบจักรและยังมีความปลอดภัยสูงกว่าอีกด้วย นอกจากนั้นยังพบว่า สารสกัดรางจืดในรูปแบบของครีมสามารถลดการอักเสบได้ดีเท่ากับสตีรอยด์ครีม
รางจืด… กับมะเร็ง รางจืดยังมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ กล่าวคือสารใดๆ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์มีศักยภาพสูงสามารถก่อมะเร็งได้ แต่รางจืดมีฤทธิ์ต้านไม่ให้สารนั้นออกฤทธิ์ มีการศึกษาโดยให้หนูกินสารสกัดของกวาวเครือ ซึ่งกวาวเครือจะไปมีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวและการสร้างนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดง กล่าวคือนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดงจะเป็นก้อนใหญ่ขึ้นและมีการแบ่งตัว นั่นคือกวาวเครือไปทำให้การเกิด micronuclei ของเม็ดเลือดแดงเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าให้สัตว์ทดลองกินรางจืดร่วมด้วย พบว่าสามารถลดการเกิด micronuclei ได้ ซึ่งทั้งรางจืดแบบสดและแบบแห้งสามารถใช้ได้ผลเช่นกัน นับเป็นข้อดีอีกข้อหนึ่งของรางจืด โดยพบว่าสารออกฤทธิ์อาจเป็นกรดฟีนอลิก ได้แก่ caffeic acid และ apigenin และสารกลุ่มคลอโรฟิลล์ ได้แก่ chlorophyll a, chlorophyll b, pheophorbide a และ pheophytin a ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
รางจืด… ผักพื้นบ้านที่มีความปลอดภัย รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงชนิดหนึ่ง ทั้งจากการที่ชาวบ้านกินยอดอ่อน ดอกอ่อนเป็นผัก ใช้ลวกกิน แกงกิน เช่นเดียวกับผักพื้นบ้านทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังนิยมกินน้ำหวานจากดอกรางจืดที่บานอีกด้วย ในส่วนของการศึกษาวิจัย มีการศึกษาทั้งพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง โดยการศึกษา 28 วันก็ไม่พบหนูตาย ไม่เกิดความผิดปกติในอวัยวะภายใน ต่อมามีการศึกษาระยะ 6 เดือน ที่เรียกว่า การศึกษาพิษเรื้อรัง พบว่ามีค่าที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในซีรั่มในเนื้อเยื่อของหนูไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มควบคุม เรียกว่ามีความปลอดภัย ค่าที่พบเปลี่ยนแปลงบางค่าหรือบิลิลูบินเพิ่มขึ้นแต่ก็อยู่ในช่วงค่าปกติ อย่างไรก็ตาม การกินรางจืดปริมาณมากต่อเนื่องกัน มีคำเตือนว่าต้องมีการศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงโลหิตวิทยาหรือเคมีคลินิกที่อาจเกิดขึ้น
บทสรุปแห่ง… รางจืด จากประวัติการใช้ที่ยาวนานในแผ่นดินไทย ประกอบกับการศึกษาวิจัยที่บอกว่ามีความปลอดภัย และการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนการใช้ของคนโบราณร่วมกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษและปัญหายาเสพติดทุกหย่อมหญ้า ในขณะที่อีกทางต้องไปแก้ไขที่ต้นตอแห่งปัญหา เช่น การลดการใช้สารเคมี ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางช่วยเหลือเยียวยาปัญหาที่ยังดำรงอยู่ ขอเพียงแต่มีดินให้รากยึดหาอาหาร มีโครงให้เลื้อย รางจืดจะแตกใบแตกยอดเป็นยาสมุนไพรที่ใช้แสนง่าย เพียงแต่นำมาต้มมาชงกิน ฤาว่าในยามนี้ภูมิปัญญาไทยจะหวนกลับมาช่วยสังคม |
หมายเหตุ: |
รางจืดมีดอก 2 สี คือสีขาว และสีม่วง รางจืดที่มีประสิทธิภาพ คือรางจืดชนิดเถาดอกม่วง |
เอกสารอ้างอิง: |
|
รวบรวมโดย: |
นพพล เกตุประสาท (087-166-5251) หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม |
|