1.
การเลือกชนิดพันธุ์ไม้หอมที่สนใจ ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.1
ความเหมาะสมของพื้นที่กับพันธุ์ไม้หอมที่จะปลูก ยกตัวอย่าง ในพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังเป็นบางครั้งควรเลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ชอบน้ำ เช่น กระทุ่มนา กระทิง พลับพลึงต่างๆ ลำเจียก จะประสบความสำเร็จมากกว่าปลูกพันธุ์ไม้หอมสกุลจำปี จำปา ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง เป็นต้น
1.2
ขนาดของพันธุ์ไม้หอมควรเหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ที่จะปลูก ยกตัวอย่าง การปลูกพันธุ์ไม้หอมขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดเล็กจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น การควบคุมขนาดทรงพุ่ม ความสวยงามของพันธุ์ไม้หอม
1.3
คิดและตัดสินใจให้แน่นอนว่าชอบพันธุ์ไม้นั้นๆ จริงหรือไม่ การชื้อต้นไม้ตามกระแสนิยมโดยที่เราไม่ได้ชอบพันธุ์ไม้ชนิดนั้นๆ อย่างจริงจัง จะเป็นผลทำให้ความใส่ใจในการดูแลไม่ดีเท่าที่ควร สุดท้ายก็จะเป็นการสูญเปล่า
1.4
แบบของการออกดอกของพันธุ์ไม้หอม มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน ชอบแบบไหนเลือกแบบนั้น
1.4.1
ออกดอกตลอดปี เช่น แก้ว กุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ เข็มสายพันธุ์ต่างๆ พุดสายพันธุ์ต่างๆ มะลิสายพันธุ์ต่างๆ บุหงาส่าหรี โมกสายพันธุ์ต่างๆ ลีลาวดีสายพันธุ์ต่างๆ เป็นต้น
1.4.2
ออกดอกเป็นครั้งคราว เช่น กระทุ่มนา กระถินหอม กระทิง จัน–อิน รวงผึ้ง พะยอม วาสนา หิรัญญิการ์ เป็นต้น
1.5
ความอดทนในการรอชื่นชมความงามของพันธุ์ไม้หอม ไม้หอมบางชนิดต้องรอหลายปีกว่าจะเริ่มให้ได้ชื่นชมความงาม เช่น นางแดง ต้องใช้เวลานานถึง 5-8 ปี กว่าจะเริ่มได้ชื่นชมความงาม
1.6
ขนาดพื้นที่ที่ท่านคิดว่าจะใช้ในการปลูกพันธุ์ไม้หอม1.6.1
กรณีที่มีพื้นที่มาก ปลูกได้ตามที่เราตั้งใจเลยครับ รูปแบบการวางตำแหน่งที่ปลูกพันธุ์ไม้หอมมีเทคนิคนิดเดียวครับ คือ ถูกใจเจ้าของ
ถูกต้องตามนิเวศวิทยา* และไม่ควรย้ายหลังปลูกเพราะการย้ายปลูกบ่อยๆ จะทำให้พันธุ์ไม้หอมโทรม และเจริญเติบโตช้า
*ถูกต้องตามนิเวศวิทยา หมายถึง การปลูกพันธุ์ไม้หอมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้หอมชนิดนั้นๆ ในเรื่องของ แสงแดด ปริมาณน้ำ ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน
1.6.2
กรณีที่มีพื้นที่น้อย แนะนำให้ปลูกพันธุ์ไม้หอมที่มีขนาดเล็ก เช่น กระดังงาสงขลา กุหลาบ คัดเค้าแคระ มะลิลา มะลิพิกุล มะลิพวง พุดกุหลาบ พุดตะแคง พุดสามสี พุดบูรพา พุทธชาติ เดหลี เดหลีใบกล้วย
หอมเจ็ดชั้น หอมหมื่นลี้ แฮปปีเนส เป็นต้น
1.7
จุดประสงค์ของการปลูกพันธุ์ไม้หอม มีหลากหลายรูปแบบ เช่น
1.7.1
เพื่อการอนุรักษ์ ควรปลูกให้มีสภาพใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดคือ ป่า พันธุ์ไม้เกือบทุกชนิดรวมทั้งพันธุ์ไม้หอมส่วนใหญ่เรานำออกจากป่ามาปลูก พันธุ์ไม้หลายชนิดมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจึงจะทำให้มีการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้
1.7.2
เพื่อการจำหน่าย แบบนี้จะปลูกจำนวนมากในแต่ละชนิด มีการแยกหมวดหมู่ชัดเจนเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา
1.7.3
เพื่อประดับอาคารบ้านเรือน ต้องมีวัตถุประสงค์ในใจก่อนว่าต้องการแบบใด เช่น
1.7.3.1
เพื่อป้องกันแสงแดดส่องเข้าอาคารบ้านเรือนมากเกินไป แนะนำพันธุ์ไม้หอมโตเร็ว ราคาไม่แพง เช่น เขยตาย จำปาเทศ จันดง สัตตบรรณ ปีบ เป็นต้น
1.7.3.2
เพื่อทำรั้วบ้านที่ช่วยกันขโมยได้ด้วย เช่น กระถินเทศ ไข่ดาว คัดเค้า คัดเค้าแคระ มะนาวด่าง หนามแดง เป็นต้น พันธุ์ไม้หอมเหล่านี้มีหนามแหลมคมมาก
1.7.3.3
คลุมซุ้มขนาดใหญ่เพื่อไว้ใช้พักผ่อนหย่อนใจ เช่น การเวก หิรัญญิการ์ เป็นต้น
1.7.3.4
ให้กลิ่นหอมฟุ้งไปไกลหลายเมตรในยามค่ำคืน เช่น แก้ว ราตรี ราชาวดีสีขาว ลีลาวดี (ขาวพวง) สายหยุด เป็นต้น
1.7.3.5
ออกดอกให้ชมบ่อยๆ เช่น กุหลาบมอญ กระดังงาสงขลา พุดสามสี พุดน้ำบุษย์ แย้มปีนัง เป็นต้น
1.7.3.6
เพื่อให้หอมและรับประทานผลได้ เช่น ทุเรียนเทศ นมแมว หนามแดง ส้มจี๊ด เป็นต้น
2.
ควรซื้อพันธุ์ไม้หอมจากที่ใหนถึงจะดี2.1
เป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ในแง่ของสายพันธุ์ มีพันธุ์ไม้หอมหลายชนิดที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ยกตัวอย่าง เช่น สายหยุดกับสายหยุดแดง ดาหลากับดาหลาดอกสีขาว ยี่โถดอกลากับยี่โถดอกซ้อน ถ้าไม่เห็นดอก
ที่ติดกับต้นก็ยากที่บอกจะได้ว่าเป็นชนิดไหนกันแน่ กว่าจะรู้ต้องใช้เวลานานกว่าจะออกดอกให้ชม ต้องปลูกไปได้ระยะหนึ่งจึงจะทราบว่า ใช่พันธุ์ไม้หอมที่เราต้องการหรือไม่ หากไม่ใช่ก็จะเสียทั้งเวลาและความรู้สึกที่ดี
2.2
เป็นแหล่งที่อยู่ใกล้บ้านเราจะดีที่สุด ในพื้นที่ใกล้เคียงกันกับบ้านเรา ภูมิอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ที่พันธุ์ไม้หอมได้รับจะใกล้เคียงกับบ้านเรา การเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้หอมจะดี การขนส่งพันธุ์ไม้หอมระยะทางไกลๆ และมีวิธีการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้พันธุ์ไม้หอมโทรมมากกว่าจะถึงบ้านเรา การซื้อพันธุ์ไม้หอมจากต่างพื้นที่สามารถทำได้ แต่ต้องดูแลพันธุ์ไม้หอมอย่างใกล้ชิด
2.3
การได้มาซึ่งพันธุ์ไม้หอมก่อนที่นำมาขายให้เรา ถ้าเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ผู้ขายผลิตเอง จะได้พันธุ์
ไม้หอมที่ตรงตามพันธุ์มากกว่าผู้ขายรับพันธุ์ไม้หอมมาจากที่อื่นแล้วมาขายต่อให้เรา
3.
ราคาต้นไม้ ราคาเท่าไรจึงจะเหมาะสม เรื่องราคาเป็นเรื่องที่ผู้รวบรวมเสนอความคิดเห็นยากที่สุดเพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต้องพิจารณาก่อนการตัดสินใจ
3.1
ขนาดของต้น ต้นใหญ่ราคาจะแพงกว่าต้นเล็กเป็นเรื่องธรรมดาที่เราทราบกันอยู่
3.2
ความสวยงามตามลักษณะของพันธุ์ไม้หอมชนิดนั้นๆ ต้นที่สวยงามตามลักษณะประจำพันธุ์
จะมีราคาแพงกว่าต้นที่รูปทรงไม่ตรงตามพันธุ์ ผู้รวบรวมเคยพบว่าราคาต่างกันเกือบเท่าตัวทั้งๆ ที่เป็นพันธุ์ไม้หอมชนิดเดียวกัน
3.3
แหล่งกำเนิดของพันธุ์ไม้และสถานที่จำหน่าย ยกตัวอย่าง เช่น กล้วยไม้ ที่ปลูกอยู่ที่เชียงใหม่ ราคา 100 บาท ถ้าท่านอยู่กรุงเทพฯ และมีร้านขายพันธุ์ไม้หอมอยู่ใกล้ๆ บ้านและจำหน่ายพันธุ์ไม้หอมชนิดเดียวกัน ขนาดเท่ากัน แต่ราคาอยู่ที่ 250 บาท ถ้าเป็นท่าน ท่านจะเลือกซื้อที่ไหนครับ แต่ในความเห็นของผู้รวบรวมจะเลือกซื้อที่กรุงเทพฯ ราคา 250 บาทดีกว่าครับ เพราะว่าใกล้บ้าน ไม่เสียเวลา
3.4
ระยะเวลาที่พันธุ์ไม้ชนิดนั้นเริ่มเปิดตัวขาย ช่วงแรกราคาจะสูงมาก ขอให้ใจเย็นๆ ไว้นะครับ
สักพักหนึ่งราคาจะต่ำลงมาถึงระดับที่เราสู้ราคาได้แล้วค่อยซื้อ ยกเว้น กรณีเพื่อการขยายพันธุ์เพื่อการจำหน่ายต่อ
ยิ่งเร็วยิ่งได้ทุนคืนเร็วนะครับ
3.5
การซื้อพันธุ์ไม้ร้านใดร้านหนึ่งเป็นประจำยิ่งซื้อยิ่งถูก ข้อนี้ผู้รวบรวมให้ความสำคัญในระดับต้นๆ เชียวนะครับ มีคนขายพันธุ์ไม้หอมหลายคนที่ช่วยหาพันธุ์ไม้ใหม่ๆ มาเพื่อขาย และให้มาด้วยใจ ช่วยให้สวนไม้หอมของฝ่ายปฏิบัติการวิจัยฯ มีพรรณไม้แปลกๆ เข้ามาเรื่อย ปัจจุบันที่สวนไม้หอมมีพรรณไม้ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิดแล้ว
4.
ความเข้าใจที่ว่า การซื้อพันธุ์ไม้หอมในวันสุดท้ายของงานที่มีการจำหน่ายพันธุ์ไม้หอม จะได้พันธุ์ไม้หอมที่ราคาถูก ขอให้คิดให้ดีนะครับว่ามันคุ้มกันหรือไม่4.1
พันธุ์ไม้หอมที่รูปทรงสวยงามตามความปรารถนาของผู้ซื้ออาจไม่มีเหลืออยู่
4.2
พันธุ์ไม้หอมบางชนิดมีจำนวนจำกัด ในวันสุดท้ายพันธุ์ไม้หอมที่ท่านต้องการอาจจะไม่มี
4.3
พันธุ์ไม้หอมที่เหลืออยู่ก็ผ่านมือผู้เลือกมาจำนวนมาก ความแข็งแรงของพันธุ์ไม้จะลดลงไปตามลำดับ
5.
ในกรณีที่ต้องการสะสมพันธุ์ไม้หอม จำนวนพันธุ์ไม้หอมที่ควรสะสมควรมีจำนวนเท่าไรพิจาณาจาก 5.1
ต้องการสะสมอย่างเดียว แนะนำว่าชนิดละ 1 ต้นก็พอ เมืองไทยมีพรรณไม้หอมจำนวนมากหลายร้อยชนิดพันธุ์ หากปลูกมากเกินไปอาจมีปัญหาเรื่องไม่มีพื้นที่จะใช้ปลูกพันธุ์ไม้หอมชนิดใหม่ๆ ในอนาคต
5.2
ต้องการปลูกเพื่อสะสมและแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้หอม แนะนำว่าชนิดละ 3 ต้น (ใช้ในการแลกเปลี่ยน 2 ต้น และเพื่อการสะสมจริง 1 ต้น)
6.
เทคนิคการเลือกชื้อพรรณไม้หอมมาปลูกมีดังนี้6.1
ทรงพุ่มสวยงามตามสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ไม้หอมยืนต้น ควรมีลำต้นตั้งตรง เป็นต้น
6.2
สังเกตจำนวนรากที่มีจากบริเวณรอบๆ กระถางว่ามีรากเต็มหรือไม่ ถ้ามีรากเต็มเมื่อนำไปปลูกจะโตเร็ว แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม
6.3
พันธุ์ไม้หอมที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่ง ให้สังเกตจากรอยที่ทาบว่าเนื้อไม้แนบสนิทกันดีหรือไม่ ถ้าแนบสนิทกันดีแสดงว่าทาบมานานพอควร หากสังเกตรอยทาบไม่ได้เพราะว่ามีเชือกพันทับรอยทาบอยู่
ลองสังเกตดูที่เชือกที่พันทาบก็ได้ กิ่งที่ทาบมาไม่นานเชือกจะค่อนข้างใหม่ หากเชือกที่ใช้ค่อนข้างเก่าให้สันนิฐานว่า น่าจะทาบมานานพอสมควร เปอร์เซ็นต์การรอดตายและเจริญเติบโตภายหลังการปลูกจะดี
6.4
พันธุ์ไม้หอมยืนต้นไม่ควรมีไม้หลักปักผูกเชือกประคอง เพราะการที่ปักไม้ผูกเชือกประคอง แสดงว่าระบบรากยังไม่แข็งแรงพอ หรือสังเกตจากการขนย้ายหรือหยิบจับที่ต้นพันธุ์ไม้หอมต้นนั้นๆ ก็ได้นะครับ การที่คนขายพันธุ์ไม้หอมสามารถหยิบจับต้นไม้หอมโดยการจับที่บริเวณต้นของพันธุ์ไม้หอมได้ ก็แสดงว่าระบบรากต้องแข็งแรง คนขายต้นไม้รู้ดีว่า ต้นที่ไม่แข็งแรงหรือระบบรากไม่ค่อยดีมักจะหยิบจับอย่างพิถีพิถัน การซื้อพันธุ์ไม้หอมที่แข็งแรงมาปลูก จะพบว่าภายหลังการชื้อมักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการดูแลรักษา
6.5
สีของใบ พันธุ์ไม้หอมชนิดเดียวกัน (ต้องดูหลายๆ ร้านนะครับ) หากมีสีเข้มกว่าปกติแสดงว่ามีการใส่ปุ๋ยมามากและผ่านการเลี้ยงดูมาในระบบเรือนเพาะชำ แบบนี้ทำให้ดูน่าชื้อมาก ชื้อได้ครับ แต่ควรต้องอนุบาลต่อประมาณ 1-2 เดือน เพื่อปรับสภาพแวดล้อมก่อนการนำไปปลูกโดยเฉพาะการปลูกในสวน หากมีให้เลือกควรเลือกต้นที่ใบไม่สวยมาก แต่มีลำต้นที่แข็งแรง ไม่อวบอ้วนหรือแกรนจนเกินไป
6.6
ก่อนการชื้อควรเดินดูต้นไม้ให้ทั่วๆ โดยไม่ต้องถามรายละเอียดจากร้านขาย หมายตาเอาไว้ว่าต้องการพันธุ์ไม้หอมอะไรบ้าง ราคาประมาณเท่าไร (แต่บางร้านก็ไม่ติดป้ายราคาไว้นะครับ) เดินดูให้ทั่วๆ ก่อน เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะชื้ออะไรบ้าง รอบที่สองค่อยกลับมาซื้อยังทันนะครับ
6.7
พันธุ์ไม้หอมที่อยู่ในร้านที่ขายประจำ จะมีราคาถูกกว่าร้านที่มาร่วมในงานต่างๆ พอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าขนส่ง และอื่นๆ ทุกอย่างที่เป็นค่าใช้จ่ายจะถูกเพิ่มเข้าไปในราคาของพันธุ์ไม้หอมที่เราซื้อนั่นเอง
6.8
พันธุ์ไม้หอมบางชนิดเป็นพันธุ์ไม้ที่ต้องการสภาพแวดล้อมเฉพาะ เช่น อุณหภูมิต่ำ ความชื้นในอากาศสูง คุณสมบัติเฉพาะของดิน และอื่นๆ ดังนั้นก่อนการชื้อพันธุ์ไม้หอมที่มีชื่อแปลกๆ จากที่เราเคยได้ยิน ขอให้คิดให้ดีนะครับ เพราะพันธุ์ไม้หอมที่มีชื่อแปลกๆ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ที่เปิดตัวใหม่ราคาจึงแพง และการดูแลรักษาค่อนข้างยาก ผู้ที่เริ่มสะสมพันธุ์ไม้หอมควรเริ่มจากพันธุ์ไม้หอมที่มีราคาไม่แพง และการดูแลรักษาค่อนข้างง่ายก่อน เช่น พันธุ์ไม้หอมยุกต์แรกๆ มาทดลองปลูกก่อน เช่น แก้ว การเวก พิกุล กระดังงา กระทิง กระทุ่มนา ราชาวดี รวงผึ้ง บุหงาส่าหรี คัดเค้า เล็บมือนาง พุดต่างๆ มะลิต่างๆ แย้มปีนัง ยี่โถต่างๆ โมกต่างๆ ปีบ สารภี อโศก เป็นต้น เมื่อเริ่มมีความชำนาญ จึงเริ่มสะสมพันธุ์ไม้หอมที่ต้องการการดูแลรักษาค่อนข้างมาก เช่น กล้วยไม้ชนิดต่างๆ กุหลาบชนิดต่างๆ ไม้สกุลจำปี จำปา เป็นต้น
7.
พันธุ์ไม้หอมของไทยแบ่งตามภูมิภาค มีพื้นฐานในการปลูกและดูแลรักษากว้างๆ ดังนี้7.1
พันธุ์ไม้หอมที่พบมากทางภาคใต้ ส่วนใหญ่จะชอบความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง อุณหภูมิสูงต้องการน้ำมาก ไม่เหมาะเป็นพันธุ์ไม้หอมเพื่อการบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำสวนไม้หอม แต่เหมาะที่จะปลูกกับพื้นที่ที่มีการปลูกพันธุ์ไม้หอมอื่นๆ ที่เจริญเติบโตแล้วพอสมควร
7.2
พันธุ์ไม้หอมที่พบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันตก ส่วนใหญ่จะชอบอุณหภูมิค่อนข้างต่ำในการติดดอกออกผล ความต้องการน้ำไม่มากนัก มีการผลัดใบในฤดูร้อน ไม่ควรเร่งการเจริญเติบโต ให้ปุ๋ยและน้ำในฤดูร้อน ควรปล่อยให้พักตัวบ้างในฤดูร้อนจึงจะได้ต้นที่แข็งแรงตามธรรมชาติในฤดูกาลต่อไป
7.3
พันธุ์ไม้หอมที่พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่จะชอบอุณหภูมิค่อนข้างสูง และมีความชื้นในอากาศต่ำ ความต้องการน้ำค่อนข้างต่ำกว่าพันธุ์ไม้หอมที่พบมากทางภาคเหนือ การดูแลรักษาคล้ายกับข้อ 7.2
7.4
พันธุ์ไม้หอมที่พบมากทางภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนใหญ่จะปลูกได้ทั่วไปไม่ค่อยมีการผลัดใบ ต้องการน้ำมาก ปลูกง่าย โตเร็ว เหมาะเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ปลูกในช่วงบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำสวนไม้หอมหรือสำหรับมือใหม่ๆ ที่เริ่มปลูก
8.
พันธุ์ไม้หอมที่เป็นไม้เลื้อย ก่อนที่ท่านจะเลือกซื้อขอให้พิจาณาให้มากเป็นพิเศษ เพราะว่าท่านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำซุ้มหรือที่ยึดเกาะของพันธุ์ไม้ชนิดนั้นๆ อีกมาก ตั้งแต่ราคาไม่กี่บาทไปจนถึงหลายหมื่นบาทแล้วแต่ขนาดของพันธุ์ไม้หอม ขนาด รูปแบบของซุ้ม วัตถุประสงค์ของการใช้งาน และที่สำคัญที่สุดก็คือ งบประมาณและความพึงพอใจของผู้เป็นเจ้าของ เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งท้อใจกับพันธุ์ไม้หอมที่เป็นไม้เลื้อย ดูเหมือนจะยุ่งยาก แต่ทุกอย่างแก้ไขได้ คราวหน้าจะหาวิธีจัดการและตัวอย่างรูปแบบของของการจัดการพันธุ์ไม้หอมที่เป็นไม้เลื้อยมานำเสนอนะครับ