ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ตีนเป็ดน้ำ ตีนเป็ดน้ำ
ตีนเป็ดน้ำ
 
ตีนเป็ดน้ำ
ชื่ออื่นๆ: ตีนเป็ดทะเล ตุม (กาญจนบุรี) พะเนียงน้ำ สั่งลา (กระบี่) มะตะกอ (มลายู นราธิวาส)
ชื่อสามัญ: Pong pong
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cerbera odollam Gaertn.
วงศ์: APOCYNACEAE
ถิ่นกำเนิด: อินเดีย ถึงตอนใต้ของจีน
ลักษณะทั่วไป: ไม้ต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มกลม ใบแน่น ไม่ผลัดใบ มีน้ำยางสีขาว
การขยายพันธุ์: การเพาะเมล็ดแก่ เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ปลูกได้ดีในดินทั่วไป เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องการการดูแลมาก
ราคาถูก ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งให้ร่มเงา ทรงพุ่มสวยงาม ดอกหอม
ใบไม่ค่อยร่วง
ข้อแนะนำ:
ต้องการความชื้นสูง และแดดเต็มวัน ระยะห่างกับต้นไม้ชนิดอื่นอย่างน้อย 3 ม.
ข้อมูลอื่นๆ:
ยางเป็นอันตราย ไม่ควรให้ถูกส่วนต่างๆ ของร่างกาย ควรระมัดระวังในการเด็ดใบและทำให้ต้นเกิดแผล
ราก รสเฝื่อน ขับเสมหะ ขับผายลม แก้ลมให้กระจาย แก้ลม แก้อาเจียน
เปลือกต้น รสจืดเฝื่อน เป็นยาถ่าย ทำให้อาเจียน แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้บิด ขับไส้เดือน แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ สมานสำไส้ แก้ไข้ แก้นิ่ว
แก่น รสเฝื่อน กระจารยลมอันฑพฤกษ์ กระจายลม กระจายเลือด แก้ลมอัณฑพฤกษ์ แก้อัมพาต
ใบ รสเฝื่อน แก้ไข้หวัด แก้ไข้ตัวร้อน ฆ่าพยาธิกลากเกลื้อน แก้กลาก ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้เกลื้อน ทำให้อาเจียนเป็นยาถ่าย แก้อาเจียนเป็นโลหิต
ดอก รสเฝื่อน แก้ริดสีดวงทวาร แก้โลหิต แก้โลหิตพิการ แก้ไข้ตัวร้อน
ผล แก้ผมหงอก รักษาขน ระงับปวด รักษาโรคกลัวน้ำ ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่าย กินมากตายได้ เป็นยาระบาย
เมล็ด รสเฝื่อนเมา ใช้เบื่อปลามีฤทธิ์ต่อหัวใจ มียาบำรุงหัวใจ ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่ายทำให้แท้งได้
น้ำมันจากเมล็ด รสเฝื่อนร้อน แก้หวัด แก้หิด ใส่ผมแก้เหา ทำให้ร้อนแดง แก้คัน เป็นยาทาถูนวดให้ร้อนแดง เป็นยาฆ่าแมลง
ทั้งต้น แก้ไข้หวัด ทำให้อาเจียน ทำให้ถ่าย แก้อาเจียนเป็นโลหิต
หมายเหตุ:
โครงการพิชิตเหาด้วยลูกตีนเป็ด
โดย  นางสาวอรทัย ยาหมอก  นางสาวสุดารัตน์ เตียนศรี  และนายสุเทพ แนบสันเทียะ
ที่มาและความสำคัญ
เนื่องจากเหาเป็นปัญหาที่สำคัญมากในกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ชั้นปฐมวัยจนถึงประถมศึกษา มีนักเรียนติดเหาประมาณ 80-90% เหาเป็นปรสิตที่ดูดเลือดคนทำให้เกิดอาการคัน นอกจากนี้ยังทำให้เด็กที่เป็นเหาเสียสมาธิในการเรียน เสียบุคลิกภาพ และยังเป็นพาหะนำไปติดผู้อื่นต่อไป การกำจัดเหาโดยทั่วไปมักใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งมีผลต่อผิวหนัง เข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบถึงบอดได้ ถ้ามีอาการแพ้อาจมีอันตรายถึงชีวิต
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมให้ประชาชนใช้สมุนไพรในท้องถิ่น ผู้จัดทำจึงได้มองเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้คิดค้นหาวิธีที่จะกำจัดเหาโดยการใช้สมุนไพรซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีสรรพคุณที่จะสามารถกำจัดเหาได้ ทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้
จุดมุ่งหมาย
1. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการฆ่าเหาของเมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำ
2. เพื่อให้ได้สารที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเหา ราคาประหยัดและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้
3. เพื่อส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาของคนไทย
สมมุติฐาน
เมล็ดของลูกตีนเป็ดน้ำ มีประสิทธิภาพในการกำจัดเหาได้
ตัวแปรที่ใช้ในการทดลอง
ตัวแปรต้น เมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำ
ตัวแปรตาม ประสิทธิภาพในการกำจัดเหา
ตัวแปรควบคุม จำนวนสารที่ใช้หยดบนตัวเหา จำนวนตัวเหาแต่ละชุด วิธีการกรองสาร วิธีการหมักสาร วิธีการบดสาร วิธีการชโลมผมผู้ทดลอง
วิธีการทดลองและผลการทดลอง
1. ทดสอบคุณสมบัติในการกำจัดเหาของเมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำ และศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมในการนำมากำจัดเหา พบว่า เหาที่หยดสารชุดที่ 1 (เมล็ด + น้ำไม่ต้ม) เหาตายหมดใช้เวลาเฉลี่ย 6 นาที รองลงมาคือ เหาที่หยดสารชุดที่ 3 (น้ำมันในเมล็ด) เหาตายหมดใช้เวลาเฉลี่ย 13 นาที และตายช้าที่สุดคือ เหาที่หยดสารชุดที่ 2 (เมล็ด + น้ำ + ต้ม) ใช้เวลาทั้งหมด 71 นาที
2. ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกำจัดเหาของเมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำ ผลแก่ ผลปานกลาง และผลอ่อน พบว่า เหาที่หยดสารจากเมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำผลแก่จะตายเร็วที่สุดใช้เวลาเฉลี่ย 6 นาที รองลงมาคือ เหาที่หยดด้วยเมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำผลปานกลางใช้เวลาเฉลี่ย 11 นาที และช้าที่สุดคือ เมล็ดจากผลอ่อนเหาจะตายในเวลาเฉลี่ย 21 นาที
3. ศึกษาระยะเวลาในการหมักสารจากเมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำที่เหมาะสมในการกำจัดเหา พบว่า สารชุดที่หมักไว้ 0 ชั่วโมง (ไม่หมักสาร) ฆ่าเหาได้ดีที่สุดใช้เวลา 5 นาที รองลงมาคือ หมักไว้ในเวลา 1, 2, 3 ชั่วโมง คือฆ่าเหาตายในระยะเวลา 7, 8, 10 นาที ตามลำดับ
4. เพื่อศึกษาปฏิกิริยาของสารที่มีผลต่อผิวหนังของผู้ทดลอง (อาสาสมัคร) พบว่า เมื่อนำมาทดสอบกับผิวหนังของผู้ทดลองบริเวณใต้ท้องแขน จำนวน 2 กลุ่มๆ ละ 15 คน เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลปกติ ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อผิวหนังผู้ทดลอง
5. ศึกษาระยะเวลาการตายของเหา เมื่อนำสารมาชโลมผมของผู้ทดลอง พบว่า เมื่อชโลมผมผู้ทดลองศึกษาการตายของเหาทุก 1 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 10 ตัว พบว่าในเวลา 4 ชั่วโมง เหาตายทั้งหมด (10 ตัว) คิดเป็น 100%
6. ศึกษาเปรียบเทียบการตายของเหา และการฝ่อของไข่เหา เมื่อชโลมผมผู้ทดลองในระยะเวลาที่ต่างกัน พบว่า เมื่อหมักไว้นาน 5 ชั่วโมง เหาตายทั้งหมดคิดเป็น 100% หลังติดตามผล 1 อาทิตย์ จะไม่พบทั้งตัวอ่อนของเหาและไข่เหา
สรุปผลการทดลอง
1. เมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำผลแก่บดละเอียดผสมน้ำ อัตราส่วน เมล็ด : น้ำ = 30 g : 30 cm3 หรือ 1:1 (น้ำหนัก : ปริมาตร) ไม่หมัก ฆ่าเหาได้ดีที่สุด และดีกว่าอัตราส่วนอื่นใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5 นาที เหาจะตายทั้งหมด
2. เมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อผิวหนังของผู้ทดลอง
3. เมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำอัตราส่วนเมล็ด : น้ำ = 1:1 เมื่อนำไปฆ่าเหาผู้ทดลองใช้เวลาชโลมผมนาน 6 ชั่วโมง เท่านั้นเหาจะตายทั้งหมดและไข่จะฝ่อทั้งหมด
4. เมล็ดลูกตีนเป็ดน้ำมีประสิทธิภาพในการกำจัดเหาดีกว่ายาฆ่าเหาที่เป็นสารเคมีที่วางขายตามท้องตลาด และดีกว่าการกำจัดเหาโดยใช้ใบน้อยหน่า คือ ใช้ระยะเวลาในการชโลมผมน้อยกว่า และมีความปลอดภัยสูงกว่า
เอกสารอ้างอิง:
1. Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001.  810 p. (120)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม