ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
เกล็ดกระโห้ด่าง
 
เกล็ดกระโห้ด่าง
ชื่อสามัญ: Balsam apple, Balsam-fig cupey, Copey, Scotch-attorney, Pitch apple, Monkey apple (Wagner et al., 1999, Whistler 2000), Matapalo
ชื่อวิทยาศาสตร์: Clusia rosea Jacq. (Wagner et al., 1999).(3) Clusia major (Jacq.) L. (Whistler 2000).(3)
วงศ์: CLUSIACEAE (GUTTIFERAE)
ถิ่นกำเนิด: ปานามา เวเนซูเอล่า และหมู่เกาะเวสอินดิส
ลักษณะทั่วไป: เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก - กลาง ทรงพุ่มไม่แน่นอน ควบคุมความสวยงามด้วยการตัดแต่งจึงจะอยู่ในรูปทรงที่ต้องการ
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี ที่สวนไม้หอมในรอบปีที่ผ่านมา ออกดอกช่วงเดือน พ.ย. - ม.ค.
เวลาที่ดอกหอม: ตลอดวันแต่ในช่วงเช้าจะหอมกว่า กลิ่นของดอกคล้ายท๊อฟฟี่นม
การขยายพันธุ์:
เพาะเมล็ด ที่สวนไม้หอมฯ ติดผลสีเขียวลักษณะคล้ายมังคุดมาก อยู่ระหว่างรอการแก่ของผล
การตอนกิ่ง เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถตอนกิ่งที่ยาวถึง 1 ม. ได้ และได้ผลดีเมื่อใช้ฮอร์โมนช่วยเร่งการออกราก รากที่ออกมาจะเป็นรากขนาดใหญ่ เป็นเส้นเดี่ยว แทงทะลุถุงออกมาประมาณ 4 - 6 นิ้ว จึงตัดออกจากต้นแม่ได้
ปักชำ อยู่ในระหว่างการทดลอง
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่สามารถปลูกเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน สวน และสนามหญ้าได้ดี เนื่องจากมีสีสันสวยงาม
ใบเป็นใบขนาดใหญ่และหนา มีการเกาะติดอยู่กับต้นได้นาน (ข้อมูลจากการปลูก 2 ปีมาแล้ว ยังไม่มีการร่วง) จึงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีข้อดีที่ไม่ต้องเก็บกวาดใบมาก
มีการเจริญเติบโตไม่เร็วนัก ขนาดทรงพุ่มค่อนข้างเล็กและสามารถควบคุมได้ เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่ปลูกไม่มากนัก พื้นที่ขนาด 2 ตรม. ก็เพียงพอที่จะปลูกพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้
ข้อแนะนำ:
เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้หอมที่มีใบขนาดใหญ่และหนา มีน้ำหนักมาก ในปีแรกควรมีการปักไม้เพื่อป้องกันต้นโยก
มีความต้องการน้ำในการเจริญเติบโตในระดับปานกลาง
เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้ไม่ยากนัก ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องชื้อพันธุ์ไม้ชนิดนี้ในจำนวนมาก
บริเวณที่ปลูกควรได้รับแสงแดดเต็มวัน การปลูกในที่มีแสงแดดอ่อนจะทำให้ใบมีสีสันและความหนาลดลง
ข้อมูลอื่นๆ:
เป็นพันธุ์ไม้ที่ใช้ในงานประดับอาคารสถานที่ สวน และสนามได้งดงาม ลู่ทางทางการตลาดเป็นสิ่งที่น่าจับตามองชนิดอีกชนิดหนึ่ง
การออกดอก มีช่วงที่ดอกสวยงามเพียง 1 วันเท่านั้น การออกดอกในรอบปีไม่มาก ผู้ที่ต้องการชมความสวยงามของพันธุ์ไม้ชนิดนี้จึงต้องมาดูเกือบทุกวัน จึงจะได้พบช่วงที่สวยที่สุดของพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ แต่รับรองครับว่าเมื่อได้ชมจะทราบว่าคุ้มค่ากับการรอคอย
เนื่องจากมีรากจำนวนไม่มาก การเด็ดใบออกเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ต้นที่ตอนมาตั้งตัวได้เร็วขึ้น
เอกสารอ้างอิง:
1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น.  2540.  ไม้ดอกหอม เล่ม 1.  สำนักพิมพ์บ้านและสวน พิมพ์ครั้งที่ 5. 160 หน้า (44)
2. Tem Samitinand.  Thai Plant Names Revised Edition 2001.  810 p.(140)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม