ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ข่อยด่าน
 
ข่อยด่าน
ชื่ออื่นๆ: พุดป่า (กาญจนบุรี) พุดผา (ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gardenia collinsac Craib.
วงศ์: RUBIACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป: เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามากและตั้งฉากกับลำต้น ไม่มีรูปทรงที่แน่นอน
ฤดูการออกดอก: ที่สวนไม้หอมฯ ออกดอกในช่วงเดือน ธ.ค. – ก.พ.
เวลาที่ดอกหอม: หอมอ่อนตลอดวัน
การขยายพันธุ์:
ในสภาพธรรมชาติขยายพันธุ์โดยเมล็ด ที่สวนไม้หอมได้ทำการทดลองขยายพันธุ์โดยวิธีการตอน พบว่าสามารถออกรากได้แต่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 เดือนและต้องใช้เทคนิคเฉพาะพอสมควร
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดีมาก
เจริญเติบโตเร็ว ภายในเวลา 2 ปี สูง 3 ม. (ที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ) ในสภาพควบคุมน้ำและดินดีกว่าที่พบในธรรมชาติ
สามารถปลูกเป็นพันธุ์ไม้เพื่อใช้ในหลายจุดประสงค์ เช่น เพื่อเป็นบอนไซหรือไม้แคระ ไม้ดัด หรือไม้ดอกหอม ปลูกประดับสวน และสนามได้ดี
ข้อแนะนำ:
ปัจจุบันมีการขุดล้อมออกจากป่ามาจำหน่ายบ้างแล้ว จึงไม่ควรซื้อข่อยด่านที่ได้จากการบอน (ขุดล้อม) เพราะเท่ากับว่าเราส่งเสริมการลักลอบการขุดต้นไม้จากธรรมชาติ
ในช่วงฤดูร้อนอาจพบอาการใบเหลืองบ้าง แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นสภาวะที่พบโดยทั่วไปของพันธุ์ไม้ที่มีการทิ้งใบเพื่อความอยู่รอดของพันธุ์ไม้ทนแล้งทั่วไป
หากต้องการรูปทรงที่สวยงาม ควรมีการตัดแต่งอย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลอื่นๆ:
มีการศึกษาวิจัยทางเคมี โดย ผศ. ประภาพร ชนยุทธ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พบว่า ส่วนใบและกิ่งของต้น พบสารจำพวกไซโคลอาร์เทนไตรเทอร์พีนที่เป็นที่รู้จัก 2 ชนิดและได้มีการนำเอาสารประกอบทั้งหมดไปทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิด Oxidation พบว่าสารประกอบ แสดงผลการต้านการเกิดออกซิเดชั่นที่ค่าความเข้มข้น 50 ppm และ 500 ppm
ราก ต้มดื่มถอนพิษเบื่อเห็ดเบื่อเมา ถอนพิษผิดสำแดง
เอกสารอ้างอิง:
1. http://www.rsc.lpru.ac.th/ab%2045/trab451.doc
2. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p.
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม