ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
พุดน้ำบุษย์
 
พุดน้ำบุษย์
ชื่ออื่นๆ: ไม่มีชื่ออื่น
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gardenia sp.
วงศ์: RUBIACEAE
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 2 - 3 ม. แตกกิ่งก้านต่ำจำนวนมาก ทรงพุ่มแน่น
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม: ช่วงที่อากาศเย็น (เย็นๆ - มืด) หอมตอนพลบค่ำ
การขยายพันธุ์:
ที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ ใช้วิธีการตอนเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ไม้ชนิดนี้ และควรเลือกกิ่งที่มีขนาดพอสมควรเนื่องจากเป็นไม้ที่มีกิ่งไม่แข็ง กิ่งที่มีขนาดเล็กอาจจะหักได้ง่าย
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ราคาถูก เนื่องจากขยายพันธุ์ง่าย การเจริญเติบโตรวดเร็ว
ออกดอกดกมาก และออกดอกได้หลายครั้งในรอบปี
ดอกมีกลิ่นหอมแรงมาก เรียกได้ว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของพันธุ์ไม้หอมที่ส่งกลิ่นหอมแรง (ที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ ในปีที่ 3 ของการปลูก เมื่อเดินผ่านต้นระยะห่าง 3 ม. ยังสามารถได้กลิ่นหอมแรงอยู่) ใช้ปรุงแต่งกลิ่นน้ำหอม
ในรอบปีที่ผ่านมาพบว่าพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ทนต่อน้ำท่วมได้ช่วงหนึ่ง (2 - 3 วัน)
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่มีสีสันแปรเปลี่ยนไปได้ สามสีในดอกเดียวกัน คือช่วงแรกที่ดอกเริ่มบานจะมีสีขาวนวล และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดใส และเมื่อดอกใกล้ๆ โรยจะมีสีเหลืองทอง
ข้อแนะนำ:
ต้องการปุ๋ยและน้ำจำนวนไม่มาก แต่ต้องการความถี่ในการใส่
ในปีแรกของการปลูกไม่ควรตัดแต่งกิ่งก้าน ควรปล่อยให้มีการแตกกิ่งก้านสาขาตามธรรมชาติ เมื่อได้ทรงพุ่มที่ต้องการก็ประมาณกลางปีที่ 2 จึงเริ่มตัดแต่งกิ่งที่ไม่ค่อยเจริญเติบโต และกิ่งแขนงเล็กๆ ออก ให้มองดูแล้วทรงพุ่มสวยงามตามความต้องการของเรา
กิ่งก้านที่เกิดจาการตัดแต่งไม่ควรขนทิ้ง ควรสับหรือตัดและกองไว้ที่โคนต้นแล้วใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีตามความเหมาะสม
พุดน้ำบุษย์เป็นพันธุ์ไม้ที่ระบบรากตื้น การพรวนดินควรต้องระมัดระวังระบบรากให้ดี
หากมีการใส่ปุ๋ยคอกครั้งละน้อยๆ หลายๆ ครั้งในรอบปี การพรวนดินก็ไม่มีความจำเป็นสำหรับพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้
ข้อมูลอื่นๆ:
ที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ มีพุดน้ำบุษย์สำคัญต้นหนึ่งที่ปลูกโดย ดร. ธีระ สูตะบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เอกสารอ้างอิง:
1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ.  2546.  หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย.  จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ.  336 หน้า (243)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม