ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
เทียนขาว
 
เทียนขาว
ชื่ออื่นๆ: เทียนกิ่ง กกกาว (ภาคอิสาน) เทียนไม้ (ภาคกลาง) เทียนข้าวเปลือก เทียนย้อม โจยกะฮวยเฮี๊ยะ ฮวงกุ่ย (จีน)
ชื่อสามัญ: Egyptian rivet, Henna tree
ชื่อวิทยาศาสตร์: Lawsonia inermis L.
วงศ์: LYTHRACEAE
ถิ่นกำเนิด: แอฟริกา เอเชียตอนใต้ อเมริกา
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งก้านจำนวนมากและไม่เป็นระเบียบ ออกดอกที่ปลายยอด ที่สวนไม้หอมฯ ปลูกมา 2 ปีสูงประมาณ 1.5 ม. มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเทียนแดงเล็กน้อย
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี ออกดอกมากช่วงฤดูฝน (พ.ค. - ก.ย.)
เวลาที่ดอกหอม: ดอกหอมอ่อนมากช่วงเช้าและเย็น
การขยายพันธุ์:
เพาะเมล็ด ที่สวนไม้หอมพบการติดของเมล็ดจำนวนมากภายหลังการบานของดอก แต่ยังไม่มีการทดลองเพาะเมล็ด
การตอนกิ่ง เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างง่าย แต่ควรใช้ฮอร์โมนในการเร่งการเกิดราก ใช้เวลาในการออกรากประมาณ 1.5 - 2 เดือน
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ออกดอกตลอดปี
โรคแมลงไม่รบกวน
ปลูกได้ดีในพื้นที่มีแดดจัด และสภาพดินที่มีธาตุอาหารค่อนข้างต่ำได้
ในรอบปีที่ผ่านมาพบว่าพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ทนต่อน้ำท่วมได้ช่วงหนึ่ง (2 - 3 วัน)
สามารถควบคุมทรงพุ่มในระดับที่ต้องการได้ง่าย
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่น่าจับตามองชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งเป็นพันธุ์ไม้หอม ไม้ประดับ และโดยเฉพาะทางด้านสมุนไพรรักษาโรค เสริมความงาม การปลูกยังไม่แพร่หลายมากนัก
ข้อแนะนำ:
เนื่องจากขยายพันธุ์ค่อนข้างง่ายและมีกิ่งก้านสาขามาก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะชื้อพันธุ์ไม้ชนิดนี้จำนวนมาก
ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตในระดับปานกลาง ไม่ทนการขาดน้ำเป็นเวลานาน ใบจะเหี่ยวทันทีเมื่อเริ่มมีอาการขาดน้ำ
เนื่องจากมีการแตกกิ่งก้านสาขามาก การตัดแต่งจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการควบคุมและดูแลทรงพุ่มให้สวยงาม และควรตัดแต่งกิ่งภายหลังการออกดอกหากไม่ประสงค์จะไว้เมล็ดเพราะจะทำให้ออกดอกเร็วขึ้น
บริเวณที่ปลูกควรได้รับแสงแดดเต็มวัน การปลูกในที่มีแสงแดดอ่อนจะทำให้ต้นไม่แข็งแรง การออกดอกและจำนวนดอกจะลดลง
ข้อมูลอื่นๆ:
ใบ ใช้พอกแผลสด ห้ามเลือด แก้เล็บขบ เล็บเป็นแผลเจ็บหรือหนอง ฝี แผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก แผลบวมฟกช้ำ ผิวหนังอักเสบ และใช้แก้เจ็บคอ
ใบสดหรือใบแห้ง ใช้ต้มเอาแต่น้ำอมบ้วนปากและคอ แก้เจ็บคอ
ใบ ตากแห้ง บดเป็นผง ต้มน้ำเดือด แล้วเติมผงเทียนกิ่งลงไป เติมน้ำมะนาว แล้วนำไปใช้ย้อมสีผม
ขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ รักษาตาเจ็บ แก้สะอึก สมานบาดแผล แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้เจ็บคอ รักษากามโรค แก้ปวดท้อง แก้ผิวหนังอักเสบ
วงการเครื่องสำอางใช้ผงใบเทียนกิ่งแห้งเป็นยาย้อมผมให้เป็นสีน้ำตาลแดงหรือแดง ปนส้ม และช่วยป้องกันผมจากแสงแดดด้วย สารออกฤทธิ์คือ lawsone ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และก่อมะเร็ง
ตำรายาไทยใช้ใบสดแก้เล็บขบหรือเป็นหนอง โดยตำพอกหรือตำกับเหง้าขมิ้นชัน เติมเกลือเล็กน้อยพอก มีรายงานระบุว่าสามารถฆ่าเชื้อหนองและเชื้อราอันเห็นสาเหตุของโรคกลาก
ใช้รักษาเล็บช้ำ เล็บขบ แผลมีหนอง ฝี แผลไฟไหม้ และใช้เป็นยาย้อมผม
 
วิธีใช้: ส่วนใหญ่ใช้ตำพอก แต่มีหลายตำรับใช้ใบสดผสมเหล้าตำพอก ใบสดตำผสมขมิ้นอ้อยและเกลือ ใบสดตำผสมข้าวสุกนำไปปิ้งไฟให้เกรียม แล้วนำมาตำผสมเกลือเล็กน้อยพอกเล็บ
สารเคมี: จากการทดลองพบว่าในใบเทียนกิ่งมีสารเคมี naphthoquinone ชื่อ "lawsone" (2-hydroxy-1,4-naphthoquinone) ในปริมาณ 0.5 - 0.9% และยังมี 1,4-naphthoquinone, Xanthones และ tannin 10%
สมุนไพรสกัดจากเทียนกิ่งช่วยให้ผมดกดำเป็นประกายนุ่มสลวย หนังศีรษะสะอาด ปราศจากรังแค รากผมแข็งแรง (ลอนาแฮร์โทนิค ลอนาแฮร์โคท)
สารมีสีในเทียนกิ่งเป็นสารจำพวก naphthoquinone ชื่อ "ลอโซน" (Lawsone, 2-hydroxy-1, 4-naphthoquinone) มีลักษณะเป็นสีส้ม-แดง สารนี้ไม่มีพิษและไม่ทำให้ระคายเคือง เมื่อใช้ย้อมผมจะเป็นสีแดง อาจใช้ผสมกับสีอื่น เช่น สีคราม (indigo blue) จากต้นคราม (Indigofera tinctoria) จะได้เฉดผมสีน้ำตาลแดงถึงดำ นอกจากใช้ในผลิตภัณฑ์ใช้ย้อมสีผมแล้ว สารสกัดจากใบเทียนกิ่งยังมีคุณสมบัติในการช่วยปรับสภาพผมอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง:
1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น.  ไม้ดอกหอม เล่ม 1.  สำนักพิมพ์ บ้านและสวน พิมพ์ครั้งที่ 5.  160 หน้า (44)
2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1,488 หน้า (543)
3. http://www.desert-tropicals.com/Plants/Lythraceae/Lawsonia_inermis.html
4. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (315)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม