ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
เสาวรส
 
เสาวรส
ชื่ออื่นๆ: กะทกรก กะทกรกยักษ์ แพสเสี้ยนฟรุท สุคนธรส
ชื่อสามัญ: Jamica honey-suckle, Passion flower, Passion fruit, Water lemon, Yellow granadilia
ชื่อวิทยาศาสตร์: Passiflora laurifolia Linn.
วงศ์: PASSIFLORACEAE
ถิ่นกำเนิด: อเมริกาใต้ เข้ามาในเมืองไทยประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือก่อนหน้านั้น
ลักษณะทั่วไป: เป็นไม้เลื้อย ลำต้นค่อนข้างใหญ่ เกาะเกี่ยวเลื้อยพันโดยใช้มือจับ อายุหลายปี
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม: หอมตลอดวัน หอมมากช่วงอากาศเย็น
การขยายพันธุ์:
การเพาะเมล็ด น่าจะเหมาะสมที่สุดเพราะว่ามีระบบรากแก้วที่แข็งแรง แต่ก็มีข้อเสียอยู่ที่อาจมีการกลายพันธุ์ได้ แต่อย่าเพิ่งตกใจ การกลายพันธุ์มีทั้งสองทางก็คือ
 
ในทางดี อาจได้ลักษณะแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เราชอบขึ้นมาก็ได้นะครับใครจะรู้ (ว่างๆ ลองทำดู) แต่ที่แน่ๆ ก็คือระบบรากดีกว่าการขยายพันธุ์โดยการตอนหรือปักชำแน่นอนครับ
ในทางร้าย อาจจะพบว่ามีดอกขนาดเล็ก ลำต้นแคระแกร็น
ปักชำ
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ดอกหอม
ผลรับประทานได้
สามารถปลูกขึ้นซุ้มเพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนได้ มีแสงส่องรอดได้บางส่วนดูเป็นซุ้มธรรมชาติดี
ข้อแนะนำ:
เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้โตเร็ว ขยายพันธุ์ได้ง่าย หาซื้อได้ไม่ยาก ปลูกเพียง 1 ต้นก็เพียงพอ
หากต้องการชมความสวยงามของดอก เมื่อดอกโรยและเริ่มติดผลควรเด็ดผลทิ้งให้หมด จะช่วยให้ออกดอกเร็วขึ้น แต่โดยธรรมชาติแล้วพันธุ์ไม้ชนิดนี้ปลูกเพื่อต้องการผลผลิตมากกว่าเพื่อชมความงามของดอก
ในสภาพการปลูกในสวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ มีการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟบ้าง ทำให้ใบบิดงอไม่สวยงาม ผู้ที่ปลูกเสาวรสควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการปลูกด้วยว่าต้องการอะไร หากต้องการให้ใบสวยงามเหมือนตอนที่ซื้อมาก็ควรใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด หากต้องการเพื่อความปลอดภัยแก่ตัวเราเอง ผู้รวบรวมขอแนะนำว่า ไม่ควรใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ หากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่ใช้สารเคมีอย่างน้อย 2 - 3 วัน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง ที่สวนไม้หอมฯ ยังไม่ใช้เลยครับ ใบบิดงอมานานเหมือนกันแต่ยังพอออกดอกให้ชมได้บ้าง แต่ไม่ติดผลนะครับ
หากต้องการทั้งสองอย่างคือ ทั้งให้ดอกและให้ผล การใช้สารเคมีและปุ๋ยมีความจำเป็นสำหรับพันธุ์ไม้ชนิดนี้
ข้อมูลอื่นๆ:
ที่สันนิษฐานว่าเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นก็เพราะว่า มีข้อมูลในเรื่องพระอภัยมณี มีข้อความตอนหนึ่งว่า
 
ทั้งสายหยุดพุดแซมแกมยี่สุ่น พิกันพิกุลโรยร่วงพวงเกสร
เสาวรสรสสุคนธ์ปนขจร ต้นรักซ้อนซ่อนกลิ่นระรินโรย
ผลแก่จัด รับประทานเนื้อ ทำน้ำผลไม้ เมล็ดใส่ไอศกรีม น้ำเสาวรสใช้แต่งกลิ่นและรสไอศกรีม เยลลี่ ลูกกวาด ขนมเค้ก ไวน์
คุณค่าทางโภชนาการ กะทกรกฝรั่ง มีกรดอินทรีย์หลายชนิด วิตามินซี น้ำตาล และสารอื่นๆ
มาทำน้ำเสาวรสกัน  มีส่วนผสมดังต่อไปนี้
 
1. เสาวรสสุก 2 - 3 ผล 2. น้ำต้มสุก 2 ถ้วย 3. น้ำเชื่อม 1/2 ถ้วย
4. เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ 5. น้ำแข็งบด 1 ถ้วย  
 
วิธีทำ นำผลเสาวรสสุกล้างให้สะอาด ผ่า 2 ซีก ใช้ช้อนๆ เมล็ดและส่วนที่เป็นน้ำสีส้มๆ ออกให้หมด จากเนื้อผล เติมน้ำสุก คั้นกรองด้วยกระชอนกับผ้าขาวบาง เพื่อแยกเอาเมล็ดและเส้นใยออก เติมน้ำเชื่อม เกลือป่น ชิมรสตามชอบ เวลาดื่มเติมน้ำแข็งบดละเอียด
  น้ำคั้นจากเนื้อซึ่งส่วนนี้มีกลิ่นหอมและมีกรดมาก ใช้ผสมเป็นเครื่องดื่ม หรือใช้ผสมกับน้ำผลไม้ชนิดอื่น เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำส้ม น้ำสัปปะรด น้ำพีช เป็นต้น โดยอัตราการผสมน้ำเสาวรส ประมาณ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติที่ดี ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพราะนอกจากทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นและรสชาติที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารสูงอีกด้วย และน้ำเสาวรสยังสามารถนำไปใช้แต่งกลิ่นและรสชาติของไอศกรีม ขนมเค้ก เยลลี่ เชอร์เบท พาย ลูกกวาด และไวน์
พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทยมี 3 พันธุ์ คือ
 
1. พันธุ์ผลสีม่วง เมื่อผลสุกจะมีสีม่วงเข้มผิวเป็นมัน น้ำจากพันธุ์ผลสีม่วงมีรสชาติดีกว่าพันธุ์ผลสีเหลือง มีกรดต่ำสีสวยและหวาน จึงเหมาะสำหรับรับประทานผลสด ข้อเสียของพันธุ์นี้คือ ค่อนข้างจะอ่อนแอต่อโรค
2. พันธุ์ผลสีเหลือง เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองขมิ้น ผิวเป็นมัน น้ำคั้นของพันธุ์นี้มีกรดมาก ซึ่งมี pH ต่ำกว่า 3 เหมาะสำหรับส่งเข้าโรงงานเพื่อแปรรูปมากกว่าการรับประทานผลสด ข้อดีของพันธุ์นี้คือ ให้ผลดก และมีความต้านทานโรคและแมลงสูงกว่าพันธุ์ผลสีม่วง
3. พันธุ์ลูกผสม เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ผลสีม่วงกับพันธุ์ผลสีเหลือง เพื่อคัดเลือกต้นพันธุ์ใหม่ที่รวมลักษณะผลที่เด่นของแต่ละพันธุ์ไว้ ทำให้มีลักษณะผลใหญ่ ให้ผลดก มีรกห่อหุ้ม เมล็ดมาก เปลือกบาง ต้านทานโรค และมีช่วงเวลาในการให้ผลที่ยาวนาน พันธุ์นี้จะให้ทั้งผลที่มีสีม่วงและผลสีเหลือง พันธุ์ลูกผสมนี้เหมาะสำหรับปลูกเพื่ออุตสาหกรรมการทำน้ำเสาวรส เพราะสามารถเก็บผลผลิตป้อนเข้าโรงงานได้ตลอดทั้งปี
พบสาร albumin-homologous protein จากเมล็ดของผลเสาวรส ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ และยังมีสรรพคุณ ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ลดไขมันในเส้นเลือด และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
เอกสารอ้างอิง:
1. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ.  2542 หน้า (837)
2. http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK24/chapter2/t24-2-l3.htm#sect4
3. http://www.healthnet.in.th/text/forum2/juice/juice093.htm
4. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (399)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม