ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ลีลาวดีเหลืองกาญจนา ลีลาวดีเหลืองกาญจนา
ลีลาวดีเหลืองกาญจนา
 
ลีลาวดีเหลืองกาญจนา (สายพันธุ์ Bali Palace)
ชื่ออื่นๆ: จงป่า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); จำปาขอม (ภาคใต้); จำปาขาว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); จำปาลาว (ภาคเหนือ); ลั่นทม (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ: Temple tree, Pagoda tree, Frangipani
ชื่อวิทยาศาสตร์: Plumeria rubra L.
วงศ์: APOCYNACEAE
ถิ่นกำเนิด: แถบอเมริกากลาง
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่ม สูง 3 - 6 ม. ทุกส่วนมียางสีขาว 
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม: ตลอดวัน
การขยายพันธุ์: การปักชำกิ่งแก่ หรือเพาะเมล็ดในกรณีการผสมสายพันธุ์ชนิดใหม่
ข้อดีของพันธุ์ไม้: เมื่อผ่านปีแรกของการปลูก รากสามารถหาอาหารได้ดีแล้ว ไม่ต้องดูแลมาก
ข้อแนะนำ:
โรคราสนิม ไม่ควรรดน้ำลีลาวดี ในช่วงที่ผลัดใบ ควรปล่อยให้ใบร่วงให้หมดต้น เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคราสนิม และควรเก็บกวาดใบที่ร่วงให้สะอาด และปล่อยให้พักตัวในช่วงฤดูร้อน และเมื่อเริ่มฤดูฝนก็ดูแลตามปกติเหมือนการดูแลพันธุ์ไม้อื่น
ข้อมูลอื่นๆ:
ติดตามการขยายพันธุ์ลีลาวดีอย่างง่ายได้ที่
http://www.plumeria101.com/cuttings101.html
หมายเหตุ:
การปลูกและดูแลรักษา
(ที่มา: http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n12/v_2-mar/rai.html)
 

ลีลาวดี พรรณไม้งามกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ควรมองข้าม

สุภาวดี ง้อเหรียญ
          ลั่นทม ...จำปา...ลีลาวดี แม้ชื่อเรียกจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นพันธุ์ไม้ประดับชนิดเดียวกันที่มีลำต้นและกิ่งก้านอ่อนช้อยสวยงาม ใบมีสีเขียวเข้ม ดอกมีกลิ่นหอม เข้ายวนหลากสีสัน แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ลีลาวดี ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ลั่นทม ซึ่งคนโบราณมีความเชื่อว่าต้นลั่นทมเป็นไม้อัปมงคลไม่ควรปลูกในบ้าน เพราะจะนำความเศร้าโศก สิ่งไม่ดีทั้งหลายมาสู่ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้าน
          ด้วยเพราะชื่อ ลั่นทม ไปพ้องกับคำว่าระทม ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ จึงมักพบเห็นปลูกอยู่ทั่วไปตามวัดวาอาราม โรงเรียน สถานที่ราชการหรือแม้แต่ในสุสาน  แต่ความเป็นจริงแล้วคำว่า ลั่นทม เป็นคำที่ผสมมาจากคำว่า ลั่น  ซึ่งหมายถึง แตกหัก ละทิ้ง และคำว่า ทม หมายถึง ความทุกข์โศก เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า การละแล้วซึ่งความเศร้าโศกแล้วมีความสุข
          ด้วยชื่อที่ยังไม่มีผู้เข้าใจความหาบมากนัก  ทำให้ลั่นทมไม่เป็นที่นิยมปลูกเท่าที่ควร จึงมีผู้ตั้งชื่อให้เสียใหม่ว่า “ลีลาวดี” ซึ่งมีความเชื่อว่าชื่อ ลีลาวดี เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  แต่แท้จริงแล้เป็นเพียงความเข้าใจผิดจึงมีการชื้อแจงว่า ลีลาวดี ไม่ใช่ชื่อพระราชทานแต่อย่างใด
          กองบำรุงรักษาอุทยานสวนจิตรลดา ได้ยืนยันว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ไม่ได้พระราชทานนามลีลาวดี และทรงทักท้วงเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง ในขณะที่บางกระแสก็อ้างว่า เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (จากบทความเรื่อง ดอกไม้ป่ามหาราชินี นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2601 ปีที่ 50 ประจำวันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2547)
          แท้จริงแล้ว เป็นชื่อที่มีผู้อื่นตั้งขึ้นกันเอง จึงทำให้ลีลาวดีกลับมาเป็นที่นิยมชมชอบกันอีกครั้ง เพราะลีลาวดีเป็นต้นไม้ที่มีความสวยงาม สามารถนำมาดัดแปลงให้เป็นไม้ดอก ไม้ประดับ ที่มีดอกหลากหลายสีได้  ซึ่งพบว่าบางต้นมีดอกถึง 3 สีในต้นเดียวกัน  ลีลาวดี ถ้าแปลตามความหลายแล้ว ก็คือ ต้นดอกไม้ที่มีท่วงท่าสวยงามอ่อนช้อย เป็นไม้ยืนต้นในเขตร้อนที่เห็นทั่วไป ดอกจะมีสีขาว สีแดงและสีชมพู
การขยายพันธุ์
          1. การเพาะเมล็ด จะใช้ฝักที่แก่จัดส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์  ซึ่งเมล็ดลีลาวดีงอกได้ง่าย แต่ละฝักของลีลาวดีจะได้ต้นกล้าประมาณ 50-100 ต้น สามารถเพาะในกระถางได้เลย  ข้อดีของการเพาะเมล็ดลีลาวดี คือจะได้ต้นที่กลายพันธุ์  หรือต้นลีลาวดีแคระ ด่าง  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่แปลก และราคาซื้อขายก็จะสูงมากด้วย
          2. การปักชำ  เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการขยายพันธุ์ลีลาวดี มากที่สุด สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากกว่าวิธีอื่นๆ และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่มีข้อเสียคือจะได้ลักษณะสายพันธุ์ที่เหมือนกับต้นแม่พันธุ์  และไม่มีรากแก้ว  การเพาะชำกิ่งอาจทำได้ตลอดปี  แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีควรทำในฤดูใบไม้ผลิ คือช่วงก่อนฤดูฝน ปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายน
          3. การเสียบยอดพันธุ์ดี  จะใช้ในกรณีที่ได้พันธุ์ดี  แล้วนำมาเปลี่ยนยอดบนต้นตอที่เพาะกล้าไว้แล้วอาจจะเสียบข้างหรือผ่าเป็นลิ่ม   วิธีนี้ต้องป้องกันไม่ให้น้ำเข้า ไม่เช่นนั้นแผลจะเน่า เป็นวิธีที่สามารถทำให้ในหนึ่งต้น เสียบยอดให้ได้ดอกหลายสีได้
          4. การติดตา ใช้ในกรณีที่ตามีไม่มากนัก เป็นการขยายพันธุ์แบบประหยัด กิ่งหนึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก
          5. การผสมเกสร  เนื่องจากลีลาวดีเป็นที่ผสมพันธุ์และติดฝักง่าย  ดังนั้น ในการสร้างลูกไม้ใหม่ๆ ที่มีสีสันดูแปลกตาต้องอาศัยแม่พันธุ์ที่มีสีสันตามที่เราต้องการจากนั้นนำต้นแม่ที่คัดแล้วมาลงปลูกใกล้ๆ กัน  แล้วปล่อยให้ผสมเกสรกันติดฝักเองตามธรรมชาติ  และเมื่อฝักแก่ก็จะนำเมล็ดไปเพาะลงปลูกในกระถางหรือแปลงปลูกเพื่อดูดอก  ซึ่งกว่าจะรู้ว่าต้นให้ดอกและสีสันเป็นอย่างไร ก็ต้องใช้เวลานานทีเดียว
การปลูกและการดูแลรักษา
          ลีลาวดี  สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่กันดารและในดินไม่อุดมสมบูรณ์มากนัก  เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดด ทนต่อความแห้งแล้ง ชอบความชื้นในอากาศสูงและไม่ชอบอยู่ในดินที่มีน้ำท่วมขังหรือมีการดน้ำบ่อยครั้ง การปลูกควรเน้นการระบายน้ำหรือการยกร่องในแปลงปลูกเป็นหลัก ดินที่เหมาะสมในการปลูกลีลาวดี ควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินเหนียวหรือดินที่มีเนื้อดินละเอียดทำให้น้ำขังได้ง่าย จะทำให้รากเน่า โคนเน่าได้
          ลีลาวดี เป็นพืชที่ต้องการแสงแดดในเวลากลางวันอย่างน้อยครึ่งวัน  แต่หลายชนิดต้องการแสดงแดดเต็มวัน จึงจะเจริญเติบโตได้ดี หากไม่ได้รับแสงแดดเต็มที่ก็จะไม่ออกดอก  แต่บางพันธุ์ก็ไม่ต้องการแสงแดดจัดในช่วงบ่าย ยกเว้นบางชนิดที่มีดอกสีแดง ซึ่งจะชอบการพรางแสงมากกว่า
          การปลูกในกระถาง :  ลีลาวดีตอบสนองต่อวัสดุปลูกที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง และได้รับปุ๋ยเสริมตามความเหมาะสม สัดส่วนของวัสดุปลูกที่แนะนำโดยทั่วไปคือ มูลวัวที่ย่อยสลายแล้ว ใบไม้ผุ และดิน ในอัตราส่วน 2:1:1
          การให้น้ำควรให้น้ำจนดินเปียกทั่วถึง  จนน้ำส่วนเกินระบายออกทางรูระบายน้ำ  แล้วปล่อยให้วัสดุปลูกแห้งก่อนการให้น้ำครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หรือถ้าช่วงแล้งจัด อาจให้น้ำวันเว้นวันและควรตรวจดูความชื้นของวัสดุปลูกอยู่เสมอ แต่วัสดุปลูกที่มีขนาดเล็กละเอียด เมื่อถึงระยะหนึ่งจะอัดตัวแน่นทำให้รากพืชขาดออกซิเจน น้ำขังไม่สามารถระบายน้ำได้ ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้
          การปลูกลงดินในแปลงปลูก :  ระยะปลูกในการปลูกลงในแปลงเพื่อเป็นการเก็บสะสมสายพันธุ์ดี  หรือปลูกเพื่อขุดล้อมจำหน่าย การปลูกลีลาวดีต้นหนึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาณ 5 ตารางเมตร  ดินที่เหมาะสมในการปลูกลีลาวดีต้นหนึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาณ 5 ตารางเมตร  ดินที่เหมาะสมในการปลูกลีลาวดีควรเป็นดินร่วนปนทราย  ดินควรมีปริมาณอินทรียวัตถุทีเหมาะสม  สามารถดูดซับความชื้นได้ ในขณะเดียวกันต้องการระบายน้ำที่ดี ควรเป็นกรดด่างที่เหมาะสม ควรอยู่ในช่วง 6.5-7.5 แต่ถ้าดินไม่เป็นกรดหรือด่างจัดมากก็ไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลีลาวดีมากนัก
          การให้น้ำควรให้น้ำแต่น้อยประมาณสัปดาห์ละครั้ง ขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศด้วย ถ้าอากาศร้อนแห้งแล้ง ก็ต้องให้น้ำบ่อยกว่าปกติเพื่อรักษาความเขียวของใบ แต่ให้น้ำมากเกินไปก็จะมีการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านมากและทำให้ไม่ออกดอก
          การให้ปุ๋ย :  เนื่องจากต้นลีลาวดีที่สวยและมีราคาสูงนั้น จะต้องมีฟอร์มต้นที่ดีคือมีลักษณะทรงพุ่มกลม มีกิ่งก้านสาขาแตกออก  ดูแล้วมีความพอดีกับความสูงของต้น  ดังนั้นการให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ต้นสูงชะลูดและไม่แทงช่อดอกในเวลาอันควร  ลีลาวดีจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในดินที่มีปุ๋ยไนโตรเจนต่ำ ฟอสฟอรัสสูง และโพแทสเซียมในปริมาณที่เพียงพอ
          การที่จะเร่งการเจริญเติบโตทั้งทางลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ  คือการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้มีใบมาก และไม่มีดอก ถ้าต้องการกระตุ้นให้ลีลาวดีมีการออกดอกดีต้องให้ปุ๋ยฟอสฟอรัส  โดยทั่วไปลีลาวดีจะแตกกิ่งก้านเมื่อมีดอก  ดังนั้นต้องให้ปุ๋ยที่ส่งเสริมการออกดอกซึ่งเมื่อออกดอกมากก็หมายถึงจะมีกิ่งก้านสาขามากตามมา
          นอกจากนั้นยังต้องได้รับธาตุอาหารรองที่จำเป็นต่อลีลาวดี ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม และกำมะถัน  รวมทั้งธาตุอาหารจุลธาตุที่เดียงพอได้แก่ ทองแดง เหล็ก สังกะสี แมงกานีส อะลูมิเนียม โมลิบดินัม โบรอน และคลอไรด์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก  ซึ่งช่วยป้องกันอาการใบซีด
          ลีลาวดีชอบดินที่เป็นกรดอ่อน  ดังนั้นปุ๋ยควรมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสในอัตราที่มากกว่า ไนโตรเจนและโพแทสเซียม ให้ผสมในอัตราปานกลาง ค่าพีเอชที่เหมาะสมในการปลูกลีลาวดี ควรจะอยู่ระหว่าง 6.4 – 6.8  ซึ่งเป็นกรดเล็กน้อย  ถ้ามีกรดมากเกินไปเนื่องจากมีระดับฟอสเฟตสูง ควรราดสารผสมของแมกนีเซียมซัลเฟต เพื่อให้ดินมีค่าเป็นกลางการขาดสารแมกนีเซียมอาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้
          สำหรับการปลูกลีลาวดีในกระถาง ในช่วงฤดูใบไม้ผลิประมาณต้นเดือนเมษายน  ควรจะโรยกระดูกป่น และปุ๋ยที่มีฟอสเฟตสูงทุกๆ สัปดาห์ และอีก 1 เดือนถัดมา  ให้ปุ๋ยแมงกานีสซัลเฟต  ให้ปฏิบัติตามสูตรนี้จนกระทั่งเกิดตุ่มดอกในช่วงมิถุนายน  ซึ่งในช่วงนั้นควรเปลี่ยนไปใช้สารโพแทสเซียมไนเตรท และลดการให้จากทุกสัปดาห์เป็นเดือนละครั้ง เพื่อการออกดอกที่ได้ผลดี จนถึงเดือนกันยายน ควรงดการให้ปุ๋ยทุกชนิด
โรคและแมลง
          ปัญหาในการปลูกเลี้ยงลีลาวดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือปัญหาในเรื่องของโรคและแมลง ตามปกติลีลาวดีไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวนแต่ปัจจุบันในบ้านเรามีการปลูกกันมากขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงมารบกวน ซึ่งสามารถก่อความเสียหายให้แก่ลีลาวดีได้อย่างมาก ซึ่งทางสมาคมลีลาวดีของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รวบรวมรายชื่อของโรคและแมลงที่เคยพบในอเมริกาไว้ ดังนี้
          1. หนอนเจาะลำต้น (Long Horn Borrer)
              ลักษณะการทำลาย :  ตัวอ่อนของหนอนชนิดนี้ จะอาศัยอยู่ในลำต้นและกัดกินต้นลีลาวดีจากภายในส่วนที่เป็นลำต้นอ่อน ลักษณะลำต้นจะเป็นรูเล็กๆ พร้อมกับขับถ่ายของเหลวเหนียวข้นสีดำไหลออกมาจากรู
              วิธีแก้ไข : ตัดกิ่งที่มีลักษณะนั้นทิ้งไปให้หมดควรทำลายด้วยการเผา
          2. ไรขาว (Spidermites)
              ลักษณะการทำลาย : เป็นแมลงตัวเล็กๆ ที่ดูดน้ำเลี้ยงของลำต้น ทำให้ใบกลายเป็นด่างดวงและม้วนงอข้างใต้ สามารถมองเห็นใยเล็กๆได้ด้วยตาเปล่า
              วิธีแก้ไข : ใช้น้ำฉีดล้างตรงบริเวณที่มีแมลงออกไป หรือใช้สารประเภทมาลาไธออน (Malathion) หรือ Orthene หรือสบู่กำจัดแมลง
          3. แมลงหวี่ขาว (White flies)
              ลักษณะการทำลาย : เป็นแมลงตัวเล็กๆ มักพบเห็นบริเวณด้านหลังของใบ แมลงนี้จะขับน้ำเหนียวๆ ออกมาเป็นอาหารที่ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี
              วิธีแก้ไข : ใช้วิธีเดียวกับไรขาว
          4. เพลี้ยไฟ (Thips)
              ลักษณะการทำลาย : ดอกหยุดการเจริญเติบโต ไม่บาน ตาดอกไม่พัฒนาและหลุดร่วงภายในเวลาอันรวดเร็ว
              วิธีแก้ไข : ตัดส่วนที่ถูกทำลายออกไปเผาทำลาย ควรลดการแพร่ระบาดของเพลี้ยด้วยการกำจัดมดที่อยู่ในดินบริเวณนั้น ไม่ให้พาเพลี้ยไฟไปยังที่อื่นๆ หรืออาจใช้มาลาไธออน (Malathion) หรือ Orthene หรือสบู่กำจัดแมลงฉีดพ่น
          5. เพลี้ยหอย (Scale)
              ลักษณะการทำลาย : เป็นแมลงตัวเล็กที่มีลักษณะเหมือนขี้ผึ้งหุ้มลำต้นคอยดูดน้ำเลี้ยงของลำต้นพืช สังเกต ดูจะเห็นจุดกลมหรือรูปไข่ขนาดเล็กบนลำต้น กิ่งอ่อนใบหรือส่วนยอด
              วิธีแก้ไข : ถ้ามีจำนวนไม่มาก ให้ใช้สำลีพันไม้ชุบแอลกอฮอล์ให้ชุ่มเช็ดออก ทิ้งไป ลดการแพร่ระบาดของเพลี้ยด้วยการกำจัดมดที่อยู่ในดินบริเวณนั้น ไม่ให้พาเพลี้ยไปยังที่อื่น
          6. เพลี้ยแป้ง (Mealy Bugs)
              ลักษณะการทำลาย : เป็นแมลงตัวเล็กแต่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า มักจะปกคลุมด้วยไขแป้งสีขาวอาศัยดูดน้ำเลี้ยงของต้นลีลาวดีหากมีจำนวนมากจะทำลายต้นพืช ทำให้อ่อนแอ และจะปล่อยน้ำเหนียวๆ ที่ขับออกมาปกคลุมใบ
              วิธีแก้ไข : ถ้ามีจำนวนไม่มาก ให้ใช้สำลีพันไม้ชุบแอลกอฮอล์ให้ชุ่มเช็ดออก ทิ้งไป ลดการแพร่ระบาดของเพลี้ยด้วยการกำจัดมดที่อยู่ในดินบริเวณนั้น ไม่ให้พาเพลี้ยไปยังที่อื่น
          7. หนอนกัดกินใบ หนอนกระทู้ผัก (Cutwormx)
              ลักษณะการทำลาย : กัดกินทำลายใบและดอก
              วิธีแก้ไข : ใช้สารเมธัลดีไฮด์
          8. หอยและหอยทาก (Slugs and Snails)
              ลักษณะการทำลาย : กัดกินบางส่วนของต้นพืช จะเห็นทางเป็นเมือกๆ ใกล้ต้นพืช
              วิธีแก้ไข : ใช้สารเมธัลดีไฮด์
          9. เชื้อราทำให้ยอดเน่า (Black Tip fungus)
              ลักษณะการทำลาย : ทำให้ยอดของกิ่งเปลี่ยนเป็นสีดำ และหยุดการเจริญเติบโต
              วิธีแก้ไข : ทำลายใบที่เป็นโรค ใช้สารคาร์เบนดาซิม ถ้าระบาดรุนแรงใช้ไซโปรโคนาโซล
        10. ราสนิม (Rust)
              ลักษณะการทำลาย : พบเป็นผงสีส้มกระจายบนด้านหลังของใบ ทำให้ใบไหม้ เน่าและหลุดร่วงไป
              วิธีแก้ไข : ใช้สารเคมี เช่น แมนโคเซป คาร์เบนดาซิม
        11. ราน้ำค้าง (Powdery Mildew)
              ลักษณะการทำลาย : พบขุยสีขาวใต้ใบ
              วิธีแก้ไข : ใช้สารเคมีคลอไพรีฟอส
        12. ราสีดำ (Black sooty Mold fungus)
              ลักษณะการทำลาย : ราสีดำบนใบ เนื่องจากของเหลวที่ขับออกมาจากเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งที่มาดูดน้ำเลี้ยงจากพืช
              วิธีแก้ไข : ใช้สารเคมี คลอไพรีฟอส
          สำหรับวิธีที่ป้องกันที่ดีที่สุด คือ การพยายามดูแลต้นลีลาวดีให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการตัดแต่งทรงพุ่มใส่ปุ๋ย พรวนดินเป็นประจำ หากพบว่ามีใบที่โรคให้เก็บใบที่เป็นโรคออกให้หมด รวมทั้งใบแก่และใบร่วงตามโคนต้นทิ้ง เพื่อป้องกันการสะสมของโรคและแมลง
          ข้อควรระวัง คือ ถ้าผู้ปลูกหวังผลในการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การพ่นยาฆ่าแมลงเป็นประจำอาจทำให้ผึ้งหรือแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรหนีไป การผสมโดยวิธีธรรมชาติจึงต้องอาศัยกระแสลมเพียงอย่างเดียวทำให้โอกาสที่จะได้กระเปาะเมล็ดนั้นมีน้อย
ประโยชน์และคุณค่าของลีลาวดี
          ลีลาวดีนอกจากจะเป็นพรรณไม้ประดับที่สวยงาม ใช้ในการจัดสวน ตกแต่งภูมิทัศน์ และเป็นพรรณไม้ที่มีราคาแล้ว ยังมีประโยชนและคุณค่าในด้านเป็นพืชสมุนไพรอีกด้วย โดยมีสรรพคุณทางยาในทุกส่วนของต้นลีลาวดี เช่น
          ต้น : ใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคไส้พิการของม้า
          ใบ : นำใบแห้งชงน้ำร้อนดื่มรักษาโรคหอบหืด หรือนำใบสดลนไฟประคบร้อนแก้ปวด บวม
          เปลือกราก : ใช้เป็นยารักษาโรคหนองใน ยาถ่าย แก้โรคไขข้ออักเสบ ขับลม
          เปลือกต้น : นำมาต้มเป็นยาถ่าย ขับระดู แก้ไข้ แก้โรคโกโนเรีย หรือผสมกับน้ำมันมะพร้าว - ข้าว - มันเนย เป็นยาแก้ท้องเดิน ยาถ่ายขับปัสสาวะ
          ดอก : ใช้ทำธูป ใช้ผสมกับพลูเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
          เนื้อไม้ : เป็นยาแก้ไอ ยาถ่าย ขับพยาธิ
          ยางจากต้น : เป็นยาถ่าย รักษาโรคไขข้ออักเสบ ใช้ผสมกับไม้จันทร์และการบูรเป็นยาแก้คัน แก้ปวดฟัน
การตลาดกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ
          หลังจากที่ ลั่นทม ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น ลีลาวดี ซึ่งเป็นชื่อที่เป็นสิริมงคลแล้ว  จึงมีคนหันมานิยมปลูกต้นลีลาวดีเพื่อตกแต่งสวนในบ้านกันมากขึ้น รวมไปถึงการนำไปประดับตกแต่งตามถนนหนทาง สวนสาธารณะ สปา รีสอร์ท โรงแรม สถานที่ราชการและเอกชนเกือบทุกแห่ง  เนื่องจากลีลาวดีเป็นไม้ขนาดกลาง มีทรงต้นแตกกิ่งก้านสวยงามอ่อนช้อย เป็นพันธุ์ไม้สลัดใบในฤดูแล้งก่อนที่จะผลิดอกและผลิใบใหม่ ใบมีสีเขียวออกดอกเป็นช่อ ขนาดของดอกก็โตพอใช้ มีหลายสีด้วยกัน และที่สำคัญมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ
          อีกประการหนึ่งคือ ลีลาวดี เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว เนื่องจากทั้งต้นและกิ่งก้านมีลักษณะอวบน้ำ  จึงสามารถขึ้นในที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก  การปรับปรุงพันธุ์ก็สามารถทำได้หลายวิธีทั้งการเพาะเมล็ด การปักชำ การทาบกิ่ง ติดตา หรือแม้แต่การผสมเกสร เพื่อทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง มีทรงพุ่มสวยงาม ได้พันธุ์แปลกใหม่มีดอกโตหลากหลายสีสัน มีดอกหลายสีใน 1 ต้น บางต้นใน 1 ดอก อาจมีมากกว่า 1 สี มีกลิ่นหอมพิเศษเย้ายวนใจ
          ที่สำคัญลีลาวดียังมีสรรพคุณทางยาใช้เป็นสมุนไพรสามารถรักษาโรคได้อย่างหลากหลายอีกด้วย จึงเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนทั่วไปรวมทั้งนักสะสมพันธุ์ลีลาวดีอีกด้วย จนทำให้เกิดกระแสลีลาวดีฟีเวอร์กันอยู่พักใหญ่  ยิ่งตามบ้านคนมีฐานะต้องมีต้นลีลาวดีปลูกประดับไว้ในสวนกันบ้างเพื่อบ่งบอกความมีระดับของเจ้าของบ้าน
          โดยเฉพาะสวนสไตล์บาหลี  กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมาก  ตามโรงแรม รีสอร์ท สวนอาหาร และสถานบริการ เช่น ธุรกิจสปา จะขาดไม่ได้เลยนิยมนำดอกลีลาวดีมาประดับตกแต่ง เพราะความสวยงามของต้นลีลาวดี และดอกที่มีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อเก็บไปลอยอ่างน้ำก็มีความสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง สามารถสร้างบรรยากาศโรแมนติคได้มาก
          มีนักจัดสวนชื่อดังหลายท่านมองว่า ลีลาวดีเป็นพรรณไม้ประดับที่น่าจะมีอนาคตไกล เนื่องจากลีลาวดี มีดีที่รูปร่าง คือมีฟอร์มที่สวยงาม ทรงต้นมีเสน่ห์ชวนมองส่วนดอกนั้นก็ชูช่องามตา มีหลากหลายสีสันเป็นลูกเล่นที่ไม่ซ้ำใคร อีกทั้งยังส่งกลิ่นหอม แถมปลูกง่าย ขยายพันธุ์ก็ดี เมื่อไม้ประดับอย่างลีลาวดีเป็นที่นิยมกันอย่างมากก็ทำให้มีราคาสูงตามไปด้วย จึงทำให้มีนักจัดสวนหลายท่านทั้งรายเล็กรายใหญ่ลงทุนลงแรงปลูก  และเพาะพันธุ์ลีลาวดีเพื่อทำเป็นธุรกิจกันเป็นการใหญ่ อาทิ บริษัทลีลาวดี เทรดดิ้ง จำกัด อยู่ที่ถนนศรีนครินทร์  เขตประเวศ  กรุงเทพฯ ได้เนรมิตพื้นที่ 140 ไร่  ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สร้างลีลาวลัยรีสอร์ท พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณด้านหน้ารีสอร์ท จำนวน 3 ไร่ให้เป็นศูนย์แสดงพันธุ์ลีลาวดีกว่า 500 สายพันธุ์
          ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์จากในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างจุดสาธิตการเพาะปลูกลีลาวดี และจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทยังได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกลีลาวดีเพิ่มขึ้นอีก 6 โครงการ  คือ โครงการเอ็มทีซี 1 ทราเวลรีสอร์ท    โครงการเอ็มทีซี 2 หนองน้ำแดง  โครงการเอ็มทีซี 3 คลองเสือใหญ่  โครงการเอ็มทีซี 4  คลองเสือเล็ก  โครงการเอ็มทีซี 5 สระน้ำใส   ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 700 ไร่ และสุดท้ายโครงการเอ็มทีซี 6 หินดาด ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี  ที่เปิดให้เข้าชมพรรณไม้ลีลาวดี และสามารถเลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านได้
          สวนลีลาวดีลำปาง ตั้งอยู่ที่ อ.แม่เมาะ และ อ.เมือง จ.ลำปาง  สวนลีลาภิรมย์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ บนถนนบางขุนเทียนชายทะเลกรุงเทพฯ มีสายพันธุ์ลีลาวดีมากกว่า 200-300 สายพันธุ์ และสวนเกษตรศิลป์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 17 ไร่ ที่ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ มีสายพันธุ์ลีลาวดีมากกว่า 200 สายพันธุ์ มีทั้งสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและสายพันธุ์ที่ผสมขึ้นเอง นอกจากเจ้าของสวนรายใหญ่ๆ  เหล่านี้แล้ว ยังมีเจ้าของสวนรายย่อยอีกเป็นจำนวนมากที่หันมาปลูกและเพาะพันธุ์ลีลาวดีเพื่อเป็นการค้ากันมากขึ้น
          ด้านการตลาด กล่าวกันว่า ลักษณะลีลาวดีสวยเป็นที่ต้องการของตลาด คือต้นใหญ่ทรงพุ่มสวย กลีบหนา ดอกใหญ่ ฟอร์มดอกสวยสีจัดใช้ได้ บานทน ช่อใหญ่ ถ้าให้ดีก้านชูช่อ ต้องยื่นยาวออกจากปลายยอด ดอกมีกลิ่นหอม และที่สำคัญถ้าได้พันธุ์ที่มีสีสันแปลกตา จะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก สำหรับราคาของลีลาวดี  โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์รูปทรงความสวยงามของลำต้น โดยราคาเริ่มต้นที่ 500 บาท ไปจนถึงสูดสุดหลายหมื่นบาท เช่น ต้นอายุประมาณ 2 เดือนขึ้นไป ราคาประมาณ 500 บาท  ถ้าเป็นต้นอายุ 1 ปี ขนาดลำต้นสูงประมาณ 1 เมตร ราคาประมาณ1,000 - 1,500 บาท ต้นอายุประมาณ 1-2 ปี  ต้นขนาดกลาง ราคาประมาณ 5,000 บาท หรือต้นอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป ราคาอยู่ที่หลักหมื่นบาท
          สายพันธุ์ลีลาวดีที่นิยมมาก ได้แก่ ขาวพวง ส้มกาฬสินธุ์ แดงสยาม แดงอุดร ยิ่งถ้าต้นไหนออกช่อดอกแล้ว จะยิ่งได้รับความสนใจมากกล้าพันธุ์ลีลาวดีที่ซื้อขายกันในตลาดปัจจุบันราคาขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความสูง และขนาดของกิ่ง โดยเฉพาะพันธุ์ขาวพวง ยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องมาจากแวดวงสปา บางต้นราคาเหยียบแสนก็มี พันธุ์สีแดงที่เรียกว่า พันธุ์แดงสยาม ราคาอยู่ที่ 7,000 บาทต่อต้น  ส่วนสีของลีลาวดีที่ตลาดกำลังต้องการในขณะนี้คือ สีม่วง มีราคาแพงที่สุด  ถ้าคิดเป็นกิ่งขายกันกิ่งละประมาณ 4,000 บาท  หากเป็นต้นราคาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ขณะนี้ตลาดกำลังต้องการดอกลีลาวดีแฟนซี  คือมีหลายสีในต้นเดียวกัน หากเป็นชนิดพันธุ์ดอกสีดำแล้วราคาจะสูงนับล้านบาทเลยทีเดียว และยังหาได้ยากอีกด้วย
          ปัจจุบันประเทศไทย มีการแข่งขันของตลาดลีลาวดีกันมาก มีการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้ได้ต้นที่สวยงาม ดูแปลกตา  มีสีสันสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้การนำเข้าลดลงไปมาก  ส่วนสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ เพชรชมพู ร.5 สี   ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา ได้แก่ สีขาว ชมพู เหลือง แดง ม่วง
          ลักษณะของดอกแต่ละพันธุ์เริ่มแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับกลิ่นซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมีกลิ่นไม่เหมือนกัน  นอกจากนี้ยังมีการเพาะพันธุ์ลีลาวดีส่งออกไปขายยังต่างประเทศอีกด้วย อาทิ บริษัท ลีลาวดี เทรดดิ้ง  จะตัดกิ่งลีลาวดีจำหน่ายในช่วงกุมภาพันธ์ - กันยายน ของทุกปี ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะตัดได้ไม่เท่ากัน เช่น พันธุ์แดงกำมะหยี่  บริษัทสามารถตัดขายได้ประมาณ 5,000 กิ่งต่อฤดูกาล ราคากิ่งละ 300 บาท (1 กิ่งยาว 30 เซนติเมตร)
          ในส่วนที่ตัดขายยังต่างประเทศนั้นจะนำกิ่งไปชุบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคแล้วห่ออย่างดี จากนั้นส่งไปตรวจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขอใบรับรองตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร  สำหรับตลาดต่างประเทศมีออเดอร์ประจำที่สหรัฐอเมริกา และโซนยุโรป  สำหรับสวนของ ลุง นัส ลีลาวดี  มีพื้นที่ปลูกลีลาวดี 15 ไร่เศษ มีลีลาวดีชนิดต่างๆ กว่า 50 ชนิด ถ้านับเป็นต้นก็มากกว่า 17,000 ต้น ในแต่ละวันจะสามารถขายกิ่งพันธุ์ลีลาวดีได้ประมาณ 7,000 - 8,000 บาท  ถ้าเป็นวันเสาร์และอาทิตย์จะขายได้สูงถึงวันละ 2 - 3 หมื่นบาท  บางวันเคยขายได้สูงถึง 4 หมื่นบาทเลยทีเดียว  นอกจากจะขายภายในประเทศแล้ว ยังมีตลาดต่างประเทศเข้ามา เช่น เนเธอร์แลนด์  มีลูกค้าสั่งนำเข้าพันธุ์แดงอุดรเป็นจำนวนมาก
          จากกระแสลีลาวดีฟีเวอร์ที่ทั้งนักธุรกิจ และเกษตรกรได้หันมาสนใจปลูกลีลาวดีเป็นพรรณไม้เศรษฐกิจกัน ในขณะนี้ลีลาวดีกลับมาซบเซาเพราะตลาดเริ่มอิ่มตัวบ้างแล้ว แต่ลีลาวดีเป็นไม้ที่ไม่มีวันตาย แม้ราคาจะตกลงไปบ้างก็ยังเป็นที่นิยมอยู่มาก เพราะความสวยงามของทรงต้น ดอกที่มีหลากหลายสีสัน มีกลิ่นหอมเย้ายวนใจ ปลูกง่าย โตเร็ว  หากสามารถปรับปรุงพันธุ์ให้มีสีสันแปลกตามีหลายสีในต้นเดียวกัน หรือหลายสีในดอกเดียวกันได้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นอย่างแน่นอน จึงเชื่อได้ว่าอีกไม่นานกระแสลีลาวดีจะกลับมาอีกครั้ง และยังคงเป็นพรรณไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่ควรมองข้าม
เอกสารอ้างอิง:
1. http://toptropicals.com/html/toptropicals/misc/thailand/plumeria.htm
2. http://www.plumeria101.com/cuttings101.html
3. http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n12/v_2-mar/rai.html
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท 087-1665251
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม