ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กระหนาย
 
กระหนาย
ชื่ออื่นๆ: จำปาเทศ หำอาว (หนองคาย)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Pterospermum littorale Craib var. lttorale
วงศ์: STERCULIACEAE
ถิ่นกำเนิด: ไม้ประจำถิ่นของประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มขนาดกลาง - ใหญ่แล้วแต่สภาพพื้นที่ปลูก สูง 10 - 16 ม. ต้นที่ปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่จะสูงชะลูดอย่างรวดเร็ว ต้นที่ปลูกกลางแจ้งและห่างจากต้นไม้ใหญ่จะแตกกิ่งก้านสาขามากและไม่ค่อยสูง
ฤดูการออกดอก: ออกดอกเกือบตลอดปี แต่ออกมากช่วงฤดูฝน
เวลาที่ดอกหอม: หอมอ่อนๆ ตอนเช้า
การขยายพันธุ์:
การตอนกิ่ง เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากออกรากง่าย ขนาดของกิ่งที่จะใช้ตอนควรมีขนาด 2 - 20 ซม.
การเพาะเมล็ด สามารถทำได้เนื่องจากมีเมล็ดมาก
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่เป็นไม้ยืนต้นที่โตเร็วที่สุด ที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ ปลูกมา 2 ปีเศษ มีความสูงประมาณ 10 ม.
สามารถปลูกได้ดีในดินที่มีปัญหาเรื่องความเค็ม ที่ปลูกพันธุ์ไม้หอมชนิดอื่นๆ ไม่ค่อยได้ผล
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่สามารถปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงา  ลดปริมาณแสงที่เข้าตัวอาคารบ้านเรือนได้ดีชนิดหนึ่ง  เนื่องจากโตเร็วและทรงพุ่มไม่แน่นจนเกินไป จึงไม่ค่อยมีผลกระทบกับการถ่ายเทอากาศเข้าอาคารบ้านเรือน แต่ควรปลูกห่างจากตัวอาคารอย่างน้อย 5 ม. เพื่อจะได้ไม่มีกิ่งก้านยื่นมาติดกับตัวอาคารบ้านเรือน
ข้อแนะนำ:
เนื่องจากมีขนาดใหญ่ ต้องการพื้นที่ในการปลูกกว้าง จึงไม่เหมาะที่ปลูกในพื้นที่แคบๆ เช่น บริเวณที่เป็นพื้นที่บ้านจัดสรร
ข้อมูลอื่นๆ:
การปลูกพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้เพื่อหวังผลทางด้านการให้ร่มเงาจะดีที่สุด เนื่องจากพันธุ์ไม้ชนิดนี้มีกลิ่นของดอกหอมไม่แรง
ผู้ที่ต้องการรวบรวมพันธุ์ไม้หอมจำนวนมากๆ แนะนำว่าปลูกเพียง 1 ต้นก็เพียงพอเนื่องจากใช้พื้นที่ในการปลูกมาก
การกระจายพันธุ์ในสภาพธรรมชาติอยู่ในเขตพื้นที่ชายทะเลทั่วไปของไทย
เอกสารอ้างอิง:
1. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (440)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม