ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กุหลาบมอญดอกสีแดง
 
กุหลาบมอญดอกสีแดง
ชื่ออื่นๆ: กุหลาบออน (เงี้ยว - แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ: Damask rose
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rosa damascena Mill.
วงศ์: ROSACEAE
ถิ่นกำเนิด: สันนิษฐานว่าเป็นประเทศอินเดีย และเอเชีย
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มขนาดเล็ก มีหนามแหลม ขนาดลำต้นและใบเล็กกว่าชนิดดอกสีชมพู
ฤดูการออกดอก: ตลอดปีหากมีการดูแลรักษาที่ดี
เวลาที่ดอกหอม: หอมแรงตลอดวัน (แต่หอมน้อยกว่าสายพันธุ์ดอกสีชมพู)
การขยายพันธุ์:
การตอนกิ่ง เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด การใช้ฮอร์โมนมีความจำเป็นในการขยายพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้
การปักชำ สามารถทำได้ กิ่งที่ใช้ควรเป็นกิ่งที่กำลังเจริญเติบโตและยังไม่มีดอก ขนาดปานกลาง ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
เป็นกุหลาบที่ปลูกลงพื้นดินที่ดีชนิดหนึ่ง
ออกดอกตลอดปี แต่จะออกดอกมากช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว
โรคและแมลงรบกวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับกุหลาบลูกผสม
ข้อแนะนำ:
ภายหลังการออกดอกควรตัดแต่งกิ่งที่ออกดอกแล้ว การไม่ตัดแต่งกิ่งที่ออกดอกแล้วอาจทำให้กิ่งแห้งตายลงมาจากดอกที่ออกแล้ว หรือทำให้แตกยอดเล็กๆ จำนวนมาก และทำให้ดอกเล็กลงในที่สุด
กุหลาบเป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษามากกว่าพันธุ์ไม้หอมชนิดอื่นๆ
มีโรคและแมลงรบกวนระดับหนึ่ง หากต้องการความสวยงามทั้งใบและดอก การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดก็มีความจำเป็น
ข้อมูลอื่นๆ:
ดอกแห้ง ชงดื่มแทนชาเป็นยาระบายอ่อนๆ กลิ่นหอมเย็นบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย ดอกสด กลั่นให้น้ำมันหอมระเหยแก้หวัด แต่งกลิ่นยาและเครื่องสำอาง เคล็ดลับยำกุหลาบมอญ นิยมนำกลีบกุหลาบมอญรวมกับเนื้อกุ้ง ไก่ หรือหมูสับ ปรุงน้ำยำด้วยพริกชี้ฟ้า กระเทียม และรากผักชีโขลกละเอียด เคี่ยวน้ำส้มสายชู น้ำตาล น้ำปลา ควรเน้นรสหวานกับเปรี้ยว สิ่งที่ควรระวังคือหลีกเลี่ยงกุหลาบที่ไม่ได้ปลูกเอง เพราะอาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายตกค้างอยู่
เป็นดอกไม้ที่ทรงโปรดของสมเด็จพระนเรศวรฯ พระองค์ท่านทรงนำกลับมาหลังจากเสร็จสงครามที่เมืองมอญ พระยาวินิจวนันดร ได้กล่าวไว้ในหนังสือไม้ประดับที่เป็นของไทยว่า กุหลาบมอญนี้เข้าใจว่าเป็นของทวีปเอเชียภาคตะวันออก มีปลูกในอินเดียมานานมากก่อนที่จะมีปลูกในเมืองไทย
มีบันทึกกล่าวไว้ว่า ได้มีการนำกุหลาบมอญเข้ามาปลูกในราวปี ๒๑๒ - ๒๑๓ สมัยกรุงศรีอยุธยา
เอกสารอ้างอิง:
1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ.  2546.  หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย.  จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ. 336 หน้า (31)
2. http://siamflower2.tripod.com/Chinese_Rose.htm
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม