ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
จันทน์กะพ้อ จันทน์กะพ้อ
จันทน์กะพ้อ
 
จันทน์กะพ้อ
ชื่ออื่นๆ: จันทน์พ้อ Chan pho (Bangkok); เขี้ยวงูเขา Khiao ngu khao (Phangnga); จันทร์กะพ้อ
ชื่อสามัญ: Broken Hear Flower, Resk Puteh Keruing, Chan ka pho
ชื่อวิทยาศาสตร์: Vatica diospyroides Symington.
ชื่อพ้องอื่นๆ
1. Vatica fleuryana Tardieu
2. Vatica cinerea
3. Synaptea cinerea
วงศ์: DIPTEROCARPACEAE
ถิ่นกำเนิด: ไทย พบมากทางภาคใต้
ลักษณะทั่วไป: เป็นไม้ต้นใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 6-15 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มโปร่งไม่ค่อยสวย มีใบน้อย ต้นแตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด กิ่งเปราะ มีน้ำยางใสซึมออกมาตามรอยแตก ใบเดี่ยว ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่สีเขียวเข้มเป็นมัน รูปรีแกม ขอบขนานหรือรูปใบหอก โคนใบเบี้ยว และจะหลุดร่วงไปตามอายุ ดอก ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ที่ซอกใบและปลายกิ่ง มี 5 กลีบ สีขาวหรือเหลืองอ่อน กลีบดอกมีขนนุ่มสีน้ำตาล ดอกเล็กแต่กลิ่นหอมแรงมาก หอมร้อนๆ คล้ายกับแก้วกาหลง ดอกทยอยบานในเวลาใกล้เคียงกัน ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ออกดอกมากที่สุด ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์
ฤดูการออกดอกติดผล: เดือนพฤศจิกายน - มีนาคม กลิ่นหอมมาก (คล้ายน้ำมันจันทน์) ในตอนกลางคืน เมื่อเริ่มปลูกใช้เวลาประมาณ 5-7 ปีจึงจะออกดอก
การขยายพันธุ์: การเพาะเมล็ด เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพันธุ์ไม้ชนิดนี้ เพาะเมล็ดขึ้นในที่ร่มๆ จะดีกว่าที่กลางแจ้ง แต่โอกาสที่จะเพาะขึ้นเป็นต้นนั้นน้อยมาก ไม่เกินร้อยละสิบ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีราคาแพงและหายาก
ข้อดีของพันธุ์ไม้: ดอกหอมแรงในเวลากลางคืน ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน
ข้อแนะนำ: เป็นพันธุ์ไม้ที่ต้องการความชื้นสูงในการเจริญเติบโต ลมไม่แรง แสงแดดไม่จัด การปลูกในพื้นใกล้ลุ่มน้ำจะเหมาะสมที่สุด
ข้อมูลอื่นๆ:
ต้นไม้ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ต้นไม้ประจำ วัดจันทน์กะพ้อ จังหวัดปทุมธานี

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
ร้อยกรอง
จันทน์กะพ้อผลิดอกออกนวลขาว จรุงกลิ่นประทินราวดอกไม้สวรรค์
ดังกลิ่นกายกลิ่นแก้มแกมกัน เมื่อจอมขวัญเคยแนบชิดยามนิทรา
พี่เหลียวซ้ายแลขวามองหาเจ้า พี่เหลียวซ้ายแลขวามองหาเจ้า
ต้องเหม่อมองจันทน์กะพ้อละออตา ต้องเหม่อมองจันทน์กะพ้อละออตา
  ลำนำดอกไม้...วิยดา เทพหัตถี
   
เพลงจันทน์กะพ้อร่วง   คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล   ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
ดอกจันทน์กะพ้อร่วงพรู เจ้ามิใช่ร่วงสู่แผ่นดินแห่งไหนโดยง่าย
ลมพาเอากลีบกระจาย ร่อนปลิวพร่างพลิ้วพราย
ไม่มีที่หมายใด ดูดังฝูงผึ้งแตกรัง
เมื่อไร้กำลัง...หล่นก็ลงฝังทั่วไป ไร้ผู้จะเหลียวใส่ใจ
ไม่มีใครที่ไหน เก็บเอาไปเพื่อไว้บูชา
บางกลีบเขาเหยียบลง แหลกเป็นผงอย่างไร้เมตตา
กลีบจมแผ่นดินสิ้นสูญราคา กลิ่นนั้นหนายังหอมเป็นค่าผูกพัน
จันทน์กะพ้อคือเหล่าสตรี มีราคีเพราะชายขยี้พรหมจรรย์
ความสาวแหลกเหลวสิ้นกัน ไร้ค่าผูกพันเหมือนจันทน์กะพ้อร่วงพรู
เอกสารอ้างอิง:
1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  หน้า. 300
2. พฤกษาพัน PLANT MATERIALS IN THAILAND หน้า. 117  อ.เอื้อมพร วีสมหมาย และคณะ
3. ไม้ดอกหอม เล่ม 1  หน้า. 65  ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ
4. http://www.qsbg.org/Database/plantdb/mdp/medicinal-specimen.asp?id=303
5. http://www.iucnredlist.org/details/33482/0
6. http://www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2_114.htm
7. http://toptropicals.com/catalog/uid/vatica_diospyroides.htm
8. http://botanykuszone1.weebly.com/35923633360936073619366035853632361436573629.html
9. https://th.wikipedia.org/wiki/จันทน์กะพ้อ
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท (087-166-5251)
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม