ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
คนทีเขมา
 
คนทีเขมา
ชื่ออื่นๆ: กูนิง (มาเลเซีย - นราธิวาส) กุโนกามอ (มาเลเซีย - ปัตตานี) หวงจิง (จีนกลาง) อึ่งแกง (แต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ: Chinese chaste, Indian privet, Negundo chest nut
ชื่อวิทยาศาสตร์: Vitex negundo Linn.
วงศ์: VERBENACEAE
ถิ่นกำเนิด: สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาคใต้ของประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มรอเลื้อย ลักษณะทรงพุ่มไม่แน่นอน
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม: หอมอ่อนๆ ตอนช่วงอากาศค่อนข้างเย็น
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
เลี้ยงง่าย โตเร็ว
ข้อแนะนำ:
ไม่ชอบแดดจัด
เป็นพันธุ์ไม้ที่ออกดอกที่ยอด เมื่อดอกโรยควรตัดช่อดอกทิ้งจะทำให้มีการแตกยอดใหม่เร็วขึ้น
ในทรรศนะของผู้รวบรวม เห็นว่าพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพสูงในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสมุนไพร การเจริญเติบโตเร็ว ขอให้จับตามองพันธุ์ไม้ชนิดนี้ให้ดีนะครับ
ข้อมูลอื่นๆ:
ใบ ใช้ผสมในน้ำอาบเพื่อให้มีกลิ่นหอม หรือจะใช้ทาหน้าผากรักษาอาการปวดศีรษะ รักษาไข้หวัด เจ็บคอ ไอ โรคปวดตามข้อ หูอื้อ รักษาบิดไม่มีตัว ลำไส้อักเสบ รักษาไข้มาลาเรีย ดีซ่าน บวมฟกช้ำ กลาก ฝี เกลื้อน เชื้อราที่เท้า บาดแผลจากของมีคม สุนัข หรือตะขาบกัด ไล่แมลง
ผล ใช้เป็นยาขับเสมหะ รักษาไข้หวัด หอบหืด ไต เหน็บชา ไข้มาลาเรีย ไข้รากสาดน้อย (typhoid fever) ปวดท้องโรคกระเพาะ กระเพาะอาหารเป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ฝีคัณฑสูตร
ช่อดอก ใช้เป็นยาลดไข้ ฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสีย
ราก ใช้เป็นยารักษาไข้หวัด ขับเสมหะ ไอ หอบหืด ขับปัสสาวะ รักษาโรคไข้มาเลเรีย โรคปวดตามข้อ โรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)
มีสารออกฤทธิ์ ชื่อ Flavonoids
เมล็ด มีสารที่ออกฤทธิ์เป็น estrogenic effect
หมายเหตุ:
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 1-5 ม.
ใบ ใบเป็นใบประกอบ แบบนิ้วมือ มีใบย่อย (3-) 5 (-7) ใบ รูปหอกแคบ ขนาดกว้าง 1-3 ซม. ยาว 4-10 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ
ดอก ดอกสีขาวแกมม่วงอ่อน ออกเป็นช่อจากซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ 15 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็กมีจำนวนมาก กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นถ้วย ปลายแยก 5 แฉก มีขนด้านนอก กลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เชื่อมกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง เกสรผู้ 4 อัน
ผล ผลรูปทรงกลม ขนาดเล็ก
เอกสารอ้างอิง:
1. BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization, Ministry of Environment and Natural Resources, Thailand
2. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p. (553)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม