ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กระทิง
 
กระทิง
ชื่ออื่นๆ: กากะทิง (ภาคกลาง) ทิง (กระบี่) เนาวกาน (น่าน) สารภีทะเล (ระยอง ประจวบคีรีขันธ์) สารภีแนน (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ: Alexandrian laurel, Beautiful - leaf, Bornero mahogany, Indian laurel
ชื่อวิทยาศาสตร์: Calophyllum inophyllum Linn.
วงศ์: CLUSIACEAE (GUTTIFERAE) (วงศ์กระทิง)
ถิ่นกำเนิด: ประเทศแถบอินโดจีน เช่น ไทย พม่า ศรีลังกา ลาว เขมร มาเลเชีย เวียตนาม อินเดีย
ลักษณะทั่วไป: ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 10 - 20 ม. ชอบแดดจัด ทรงพุ่มกลม ทรงพุ่มขว้าง 5 - 10 ม. ใบสีเขียวเข้ม เส้นใบสีอ่อน ความกว้าง 4 - 6 ซม. ยาว 5 - 15 ซม. ใบแน่นทึบ ดอกเป็นช่อ ทยอยบานตั้งแต่โคนช่อถึงปลายช่อดอก ผลกลมมากคล้ายลูกปิงปองขนาด 2 - 2.5 ซม. สีเขียวอ่อน เมล็ดมีเปลือกแข็ง ชอบดินทรายระบายน้ำดี แต่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด ถ้าได้รับน้ำมากพอใบจะเป็นมันสวยงาม
ฤดูการออกดอก: ที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม: หอมอ่อนตลอดวัน (ช่วงเวลาที่อากาศเย็นจะหอมมากกว่าช่วงอากาศร้อน)
การขยายพันธุ์:
เพาะเมล็ด ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด มีข้อดีที่ รูปทรงสวยงาม ดูแลง่าย แต่ต้องใช้เวลานานในการปลูก ประมาณ 3 ปีจึงจะออกดอก
การตอนกิ่ง ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงออกราก ต้นที่ได้จากการตอนมีข้อดีที่ออกดอกเร็วภายใน 3 - 6 เดือนหลังตัดกิ่งตอนปลูก
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ใบไม่ร่วงง่ายและเป็นมันเงา ทนดินเค็ม แดดจัด และลมแรงได้ดี ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน ปลูกได้ตั้งแต่ชายทะเลถึงบนเขาสูง ควบคุมการออกดอกได้ด้วยการควบคุมการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง
ข้อแนะนำ:
ไม่ควรปลูกพันธุ์ไม้นี้ใกล้อาคาร เพราะระบบรากแข็งแรงทำความเสียให้กับอาคารได้เหมือนต้นไทร
นิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงา และชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ
เป็นไม้ทีมีการเจริญโตค่อนข้างช้า สามารถปลูกเป็นไม้กระถางได้ (กิ่งที่ได้จากการตอน)
การตัดแต่งพันธุ์ไม้ชนิดนี้ต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีน้ำยางสีเหลืองที่เป็นพิษอยู่ทั่วไปทั้งต้น
ข้อมูลอื่นๆ:
กระทิง เป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดระยอง
ดอก ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ
เมล็ด มีน้ำมันใช้ทาถูนวดแก้ปวดข้อ เคล็ดบวม รักษาโรคเรื้อน
ใบ ใช้ใบผสมกับน้ำสะอาดล้างตา
เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน และกระดูกงูเรือ น้ำมันใช้ในอุตสาหกรรมสบู่ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และใช้ผสมทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลจากเมล็ด
หมายเหตุ:
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 15-30 ม.
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 8-15 ซม. ปลายใบกลมหรือเว้าตื้น โคนใบรูปลิ่มกว้างหรือกลม แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันวาวทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก
ดอก ดอกสีขาว ออกเป็นกระจุกแยกแขนงสั้นๆ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง เกสรเพศผู้สีเหลือง จำนวนมาก
ผล ผลสดมีเมล็ดเดียว ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. ผลสุกสีเหลือง เมล็ดขนาดใหญ่
เอกสารอ้างอิง:
1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  สมุนไพรสวนสิริรุกขชาติ.  บริษัท บุญรอดบริเวอรรี่ จำกัด.  2535.
2. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ.  2542.
3. เต็ม สมิตินันท์.  พรรณไม้แห่งประเทศไทย.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ 2544.  810 หน้า.
4. ปิยะ เฉลิมกลิ่น.  หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย.  บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กซ์เพรส จำกัด.  2546 กรุงเทพ 336 หน้า.
5. ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.  นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1,488 หน้า.
6. สุทัศน์ จูงพงศ์.  สมุนไพรพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด.  กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มติชน. 2543.
7. BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization, Ministry of Environment and Natural Resources, Thailand
8. http://es.wikipedia.org/wiki/Calophyllum_inophyllum
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม