ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กระดังงาสงขลา
 
กระดังงาสงขลา
ชื่ออื่นๆ: กระดังงาสาขา กระดังงาเบา (ภาคใต้) กระดังงอ (มาเลย์-ยะลา)
ชื่อสามัญ: Ka-dung-nga-song-kla, Dwarf Ylang-Ylang
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cananga odorata (Lam.) Hook. f. & Th. var. fruticosum (Craib) J. Sinclair.
ชื่อพ้อง  1. Canangium fruticosum Craib  2. Canangium odoratum var. fruticosum (Craib) Corner
วงศ์: ANNONACEAE
ถิ่นกำเนิด: บ้านจะโหน่ง อ. จะนะ จ. สงขลา
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มขนาดเล็ก พุ่มโปร่ง
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม: หอมอ่อนๆ ตอนเช้าและตอนเย็น
การขยายพันธุ์:
การตอนกิ่ง สามารถทำได้แต่ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากิ่งเปราะ หักง่าย  การเพาะเมล็ดทำได้ง่ายกว่า การขยายพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ควรใช้ฮอร์โมนช่วยเนื่องจากการออกรากไม่ง่ายนัก ฤดูกาลที่เหมาะสมกับการขยายพันธุ์คือช่วงฤดูฝน ประมาณต้นเดือนมิถุนายน
การเพาะเมล็ด เป็นที่นิยมกันมาก เพราะสะดวกในการปฏิบัติงานและสามารถทำได้ครั้งละมากๆ แต่ก็มีข้อเสียอยู่นิดหนึ่งก็คือ พันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ไม่ค่อยติดผลเท่าไรนัก
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ดอกมีกลิ่นหอมแรง
การปลูกและดูแลรักษาทำได้ง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน
มีการออกดอกสม่ำเสมอเกือบตลอดทั้งปีหากมีการดูแลรักษาที่ดี
ต้องการพื้นที่ในการปลูกไม่มากเพียง 2 - 4 ตรม. ก็เพียงพอ (ข้อมูลจากการปลูกที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ พบว่าต้นที่มีการปลูกมาแล้ว 4 - 5 ปีมีขนาดทรงพุ่มเพียง 1.5 ม. เท่านั้น)
เป็นพันธุ์ไม้ที่มีราคาไม่แพงและให้ดอกอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากชนิดหนึ่ง เหมาะกับผู้ที่เริ่มปลูกพันธุ์ไม้หอมใหม่ไม่ควรมองข้าม
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ตอบสนองกับการใส่ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง
ข้อแนะนำ:
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ต้องการพื้นที่ในการปลูกน้อยแต่ต้องได้รับแสงแดดจัดตลอดวัน การปลูกในที่มีร่มเงาจะมีผลต่อการติดดอก
กระดังงาสงขลาที่ได้จาการเพาะเมล็ดเมื่อปลูกจะเจริญเติบโตดี แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าต้นที่ได้จาการตอน แต่การออกดอกจะช้ากว่าต้นที่ได้จาการตอน
เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความต้องการน้ำค่อนข้างมากตามสภาพการกำเนิด (พันธุ์ไม้ที่เกิดหรือเจริญเติบโตได้ดีในภาคใต้ของประเทศไทยเรา ส่วนใหญ่มีความต้องการน้ำและความชื้นสูงในการเจริญเติบโต)
ข้อมูลอื่นๆ:
พบครั้งแรกที่ บ้านจะโหน่ง อ. จะนะ จ. สงขลา
เนื้อไม้และใบ ทำบุหงา อบร่ำ ทำน้ำหอม
เนื้อไม้ รสขมเฝื่อน ขับปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
ต้น กิ่ง ก้าน เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
ดอก บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ บำรุงเลือด แก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย วิงเวียน จุกเสียด
ราก คุมกำเนิด
ดอกไม้ชนิดนี้มีสองสี คือสีเขียวอ่อน และสีเหลือง สีเขียวอ่อนไม่ต้องพยายามดมนะครับ ถึงดมอย่างไรก็ไม่หอม ไม่ต้องตกใจที่ไม่หอมเพราะว่าดอกสีเขียวอ่อนเป็นดอกที่ยังอ่อนอยู่ ดอกที่มีสีเหลืองจึงจะหอม และที่สำคัญในช่วงกลางวันดอกไม้ชนิดนี้จะไม่ส่งกลิ่นหอมมากนักโดยเฉพาะช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูง
หมายเหตุ:
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น ไม้พุ่ม สูงได้ประมาณ 3 ม. แตกกิ่งจำนวนมาก
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปขอบขนาน เบี้ยวเล็กน้อย ยาวได้ประมาณ 14 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ก้านใบยาว 1-2.5 ซม.
ดอก ดอกออกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ตามซอกใบหรือตรงข้ามใบ ก้านดอกยาว 3-6 ซม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอ่อน รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาว 0.7-1.2 ซม. มีขนละเอียดด้านนอก กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น หรือมีหลายกลีบ เรียงหลายชั้น กลีบรูปแถบ ยาว 5-9 ซม. สีเขียวอ่อน เปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ผล ผลกลุ่ม ผลย่อยมี 8-10 ผล รูปรี ยาวประมาณ 1.5 ซม.
เอกสารอ้างอิง:
1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  สมุนไพรสวนสิริรุกขชาติ  บริษัท บุญรอดบริเวอรรี่ จำกัด 2535.
2. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ  2542 หน้า (10)
3. ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.  นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1,488 หน้า. (31)
4. BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization, Ministry of Environment and Natural Resources, Thailand
5. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001. 810 p. (102)
6. The Encyclopedia of Plants in Thailand (สารานุกรมพืชในประเทศไทย)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม