ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ปีบ
 
ปีบ
ชื่ออื่นๆ: กาซะลอง กาดสะลอง (ภาคเหนือ) เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง - กาญจนบุรี)
ชื่อสามัญ: Cork tree, Indian cork tree
ชื่อวิทยาศาสตร์: Millingtonia hortensis Linn.
วงศ์: BIGNONIACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป: ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ต้นสูงโปร่ง แตกกิ่งก้านสาขาในระดับสูง
ฤดูการออกดอก: ปลายฤดูฝนถึงกลางฤดูหนาว (ต.ค. - มี.ค.)
เวลาที่ดอกหอม: หอมตลอดวัน
การขยายพันธุ์:
การตอน สามารถทำได้แต่ไม่นิยม
การปักชำ ตัดเป็นท่อนยาวตามต้องการ ปักชำในที่ร่มรำไร
กรณีที่มีต้นขนาดใหญ่ ให้ตัดรากและรดน้ำบริเวณที่โดนตัด ประมาณ 15 - 25 วันจะเป็นต้นที่แตกใหม่ รอให้ต้นใหม่สูงประมาณ 6 - 10 นิ้วแล้วทำการขุดไปอนุบาลต่อในที่ร่มรำไร ประมาณ 1 เดือนก็สามารถนำไปปลูกได้
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ปลูกได้ในสภาพดินที่มีธาตุอาหารต่ำ
ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก ระบบรากดี จึงสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง
เหมาะที่จะปลูกเพื่อกรองแสงให้กับตัวอาคาร เนื่องจากเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสูงและทรงพุ่มไม่แน่น อากาศถ่ายเทได้ดี
ถึงแม้จะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ แต่ก็ควบคุมทรงพุ่มได้ง่ายด้วยการตัดแต่งต้นได้ทุกระดับความสูง โดยไม่ทำให้ต้นตาย
ข้อแนะนำ:
ในการตัดแต่งควรตัดแต่งประมาณปลายเดือน เม.ย. ถึงกลางเดือน พ.ค. ภายหลังการตัดแต่งควรรดน้ำบริเวณที่รากไปถึงให้ชุ่ม 3 วันครั้ง ประมาณ 15 วันจะเห็นยอดอ่อนแตกใหม่ หลังจากนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องรดน้ำเพิ่มเติม (ช่วงหน้าฝนพอดี) วิธีนี้มีผู้ไม่ประสงค์ให้ออกนามแนะนำผู้รวบรวมมาอีกทีครับ ก็เลยมาทดลองทำดูที่สวนไม้หอมฯ ปรากฏว่าได้ผลดี ก็เลยมาแนะนำกัน แต่วิธีนี้ไม่แนะนำให้ใช้กับพันธุ์ไม้ที่โตช้า เพราะอาจทำให้ต้นตายได้โปรดระวังด้วย
ข้อมูลอื่นๆ:
รากสดหรือตากแห้ง ต้มเอาน้ำดื่ม บำรุงปอด แก้วัณโรคหรือปอดพิการ แก้อาการเหนื่อยหอบได้ดี เรียกว่าทำให้ระบบการหายใจดีขึ้นได้
ราก รสเฝื่อน บำรุงปอด แก้วัณโรค แก้ปอดพิการ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ
ดอกแห้ง ใช้มวนเป็นบุหรี่สูบแก้หืด
เนื้อไม้ (wood) ใช้ทำหีบห่อใส่ของ กระดาน เครื่องเรือน
เปลือก (bark) ใช้ทำจุกก๊อก
เป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก
เอกสารอ้างอิง:
1. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ.  2542 หน้า (486)
2. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. -- กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. 2546. 1,488 หน้า (701)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม