ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
แก้ว แก้ว
 
แก้ว
ชื่ออื่นๆ: แก้วขาว (ภาคกลาง) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ) แก้วลาย (สระบุรี) จ๊าพริก (ลำปาง)
ชื่อสามัญ: Adaman satinwood, Chinese box tree, Chinese Cosmetic Boxwood, Mock Orange, Orange Jasmine, Orange Jessamine
ชื่อวิทยาศาสตร์: Murraya paniculata (L.) Jack.
วงศ์: RUTACEAE
ถิ่นกำเนิด: จีน และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มขนาดเล็ก มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก หากไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่มจะมีทรงพุ่มค่อนข้างกลม
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี (สามารถควบคุมการออกดอกได้โดยการควบคุมน้ำและใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม)
เวลาที่ดอกหอม: ดอกหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
การขยายพันธุ์:
การตอน เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ออกรากได้ง่ายใช้เวลาในการตอนประมาณ 21 - 35 วันแล้วแต่ฤดูกาล
การเพาะเมล็ด ยังไม่มีการเก็บข้อมูล แต่พบต้นขนาดเล็กตามพื้นดินบริเวณต้นแก้วที่ติดผล แสดงว่าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ส่งกลิ่นหอมแรงสุดชนิดหนึ่ง
สามารถปลูกในดินที่มีคุณสมบัติไม่ค่อยเหมาะกับการปลูกพืชทั่วไป เช่น ดินเค็ม มีธาตุอาหารในดินน้อย
สามารถควบคุมการออดอกในช่วงเวลาที่เราต้องการได้ โดยการควบคุมน้ำและปุ๋ยที่ถูกต้อง
ข้อแนะนำ:
แก้วเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ต้องการน้ำจำนวนมากในเจริญเติบโต หากขาดน้ำจะแสดงอาการใบเหี่ยวให้เห็นทันที
การปล่อยให้แก้วมีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติโดยไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่ม จะทำให้การออกดอกน้อยลง
ข้อมูลอื่นๆ:
ใบสดที่โตเต็มที่ มีรสปร่า หอม
 
ขนาดและวิธีใช้: ใช้ใบสด 15 ใบย่อย หรือน้ำหนัก 1 กรัม ตำพอแหลก ใส่ในเหล้าโรงประมาณ 2 ช้อนชา หรือ 8 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 3 - 5 นาที นำน้ำยาทาบริเวณที่ฟันปวด
สรรพคุณ: บรรเทาอาการปวดฟัน การที่ใบแก้วสด สามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้ เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยที่ออกฤทธิ์เป็นยาชา
หมายเหตุ:
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 10 ม.
ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ก้านใบไม่มีปีก ใบย่อยมี 3-9 ใบ เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ยาว 2.5-7 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบแหลม เบี้ยว
ดอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ปลายมน กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.2 ซม. เรียงซ้อนเหลื่อม ฐานรองดอกรูปวงแหวน เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก ก้านเกสรเพศผู้แบน รังไข่ติดเหนือวงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียหนา ยาวประมาณ 0.7 ซม. ยอดเกสรรูปโล่ห์
ผล ผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด รูปรี ยาว 1-1.2 ซม. สุกสีแดง มี 1-2 เมล็ด มีขนเหนียวหุ้ม
เอกสารอ้างอิง:
1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ.  2546.  หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย.  จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ.  336 หน้า (33)
2. http://toptropicals.com/cgi-bin/garden_catalog/cat.cgi?uid=MURRAYA_PANICULATA
3. http://www.dnp.go.th/EPAC/Herb/07kaew.htm
4. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001. 810 p. (368)
5. The Encyclopedia of Plants in Thailand (สารานุกรมพืชในประเทศไทย)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม