ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กรรณิการ์
 
กรรณิการ์
ชื่ออื่นๆ: กรณิการ์ กณิการ์ ปาริชาติ (ทั่วไป)
ชื่อสามัญ: Night Blooming Jasmine, Night Jasmine, Coral Jasmine
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nyctanthes arbor-tristis L.
วงศ์: OLEACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศอินเดีย
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มเตี้ย รูปแบบทรงพุ่มไม่ค่อยแน่นอน แต่ค่อนข้างกลม
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี แต่ออกมากช่วงปลายฝนต้นหนาว
เวลาที่ดอกหอม: หอมอ่อนตั้งแต่เย็นแดดอ่อน - กลางคืน
การขยายพันธุ์:
การปักชำ ใช้กับกิ่งที่มียอดอ่อน เป็นวิธีการที่เหมาะสม ออกรากได้ไม่ยาก
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ออกดอกให้ชมได้บ่อย
ดอกใน 1 ช่อจะทะยอยบาน จึงทำให้ได้ชมดอกหลายวัน
ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน
ข้อแนะนำ:
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ควบคุมทรงพุ่มได้ค่อนข้างยาก มีการแตกของกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ
ต้องควบคุมทรงพุ่มโดยการตัดแต่งภายหลังการออกดอก
เมื่อปลูกไปได้ระยะหนึ่ง 2 - 3 ปี ควรมีการตัดแต่งครั้งใหญ่ (ทำสาว) ครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้กิ่งใหม่
โดยธรรมชาติกรรณิการ์จะเจริญเติบโตในที่ได้รับแสงแดดประมาณครึ่งวัน (แดดเช้า) แต่ก็สามารถปลูกในที่มีแดดเต็มวันแต่ขนาดใบและดอกจะเล็กลง สีใบจะซีด
ใบค่อนข้างกระด้างอาจทำให้เกิดผื่นคันให้กับผิวหนังกับผู้ที่มีอาการแพ้ได้บ้าง
ข้อมูลอื่นๆ:
ก้านดอก มีสาร nyctanthin ให้สีเหลืองอมแสด ใช้ทำขนมหรือสีย้อมผ้า
ต้น แก้ปวดศีรษะ
ดอก อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ใช้เป็นยาขับประจำเดือน แก้ไข้และลมวิงเวียน
ใบ อินเดียใช้ใบซึ่งมีรสขมเป็นยาแก้ไข้ และใช้ขับพยาธิ  ไทยใช้ใบสดตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี
ราก แก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก บำรุงผิวหนังให้สดชื่น
ต้นและราก ต้มรับประทานแก้ไอ
หมายเหตุ:
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 10 ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม
ใบ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรี ยาว 6-12 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขนแข็งสีขาว ก้านใบยาวได้ประมาณ 1 ซม.
ดอก ดอกออกเป็นกระจุก 3-7 ดอก บนช่อแยกกระจุกแยกแขนงแบบแยกสาม มีใบประดับรอง ดอกไร้ก้าน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงรูประฆัง หลอดกลีบดอกยาประมาณ 1 ซม. สีส้มแดง กลีบดอก 4-8 กลีบ รูปขอบขนานแคบ บิดเวียนไปทางขวา ปลายกลีบแฉกเป็นพูลึก สีขาว มีแต้มสีส้มแดงด้านใน ยาว 0.5-0.7 ซม. ดอกตอนกลางคืนมีกลิ่นหอมแรงกว่าตอนกลางวัน
ผล ผลแบบแคปซูล แบน กลมๆ คล้ายรูปหัวใจ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. แยกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมี 1 เมล็ด
เอกสารอ้างอิง:
1. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ.  2542 หน้า (3)
2. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. -- กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. 2546. 1,488 หน้า (14)
3. http://toptropicals.com/cgi-bin/garden_catalog/cat.cgi?uid=Nyctanthes_arbortristis
4. http://www.ku.ac.th/e-magazine/november45/agri/flower.html
5. The Encyclopedia of Plants in Thailand (สารานุกรมพืชในประเทศไทย)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท และไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม