ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
แย้มปีนัง
 
แย้มปีนัง
ชื่ออื่นๆ: บานทน หอมปีนัง (กรุงเทพฯ)
ชื่อสามัญ: Climbing oleander, Cream fruit
ชื่อวิทยาศาสตร์: Strophanthus gratus (Wall. ex Hook.) Baill.
วงศ์: Apocynaceae
ถิ่นกำเนิด: เขตร้อนตั้งแต่เอเชีย - แอฟริกา
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มรอเลื้อยโดยธรรมชาติ ไม่มีส่วนยึดเกาะกับพรรณไม้ชนิดอื่นๆ
ฤดูการออกดอก: ออกดอกตลอดปี ออกดอกมากในช่วงปลายฤดูหนาว
เวลาที่ดอกหอม: หอมตลอดวัน แต่ช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ (ตอนเช้าๆ และตอนเย็นๆ) จะหอมแรงกว่าช่วงอื่นๆ
การขยายพันธุ์:
การตอน เป็นวิธีการที่เหมาะสม แต่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ฮอร์โมนช่วยเนื่องจากการออกรากของพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ค่อนข้างยาก จากประสบการณ์พบว่าช่วงที่เหมาะสมสำหรับการตอนคือ เริ่มหน้าฝนแล้วประมาณ 1 เดือน (มิถุนายน)
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
กลิ่นและสีสันมองไกลๆ คล้ายกุหลาบ ออกดอกตลอดปีหากมีการดูแลรักษาที่ดี
มีดอกจำนวนมากในแต่ละครั้งที่ออกดอกและค่อยๆ ทยอยบาน จึงสามารถชมความงามได้หลายวัน
จากการเก็บข้อมูลในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมาไม่พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช
ข้อแนะนำ:
เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ต้องการน้ำมากในการเจริญเติบโต จึงจะไม่ควรปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง
โดยธรรมชาติเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย แต่สามารถทำเป็นไม้ต้นได้โดยการตัดแต่งที่ถูกวิธี หากสนใจวิธีการตัดแต่งพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ให้เป็นไม้ยืนต้น แวะมาชมที่สวนไม้หอมของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ นะครับ ผมทำการทดลองตัดแต่งไว้ให้ดูแล้ว
ต้องมีการตัดแต่งอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้รูปทรงต้นที่ดีและสะดวกในการดูแลรักษา
หากต้องการจัดรูปทรงให้มีทรงพุ่มที่สวยงาม ในการปลูกปีแรกไม่ควรทำการตัดแต่งทรงพุ่ม ควรปล่อยให้มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติจะได้แตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก จึงจะสามารถตัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้ง่าย
การตัดแต่งทรงพุ่มควรเริ่มทำในปีที่ 2 และควรตัดแต่งทรงพุ่มปีละประมาณ 2 - 3 ครั้ง
ข้อมูลอื่นๆ:
เมล็ด ใช้สกัดให้สารชื่อ G-strophanthin หรือ ouabain เตรียมเป็นยาแผนปัจจุบันใช้รักษาโรคหัวใจ เป็นยาที่มีอันตราย ตามตำรายาพื้นบ้านใช้รักษาโรคหนองใน และมีความเป็นพิษสูง ไม่สมควรกินในลักษณะสมุนไพร
อาการพิษ คลื่นไส้ ท้องเสีย หัวใจเต้นแรงและเร็ว ต้องรีบทำให้อาเจียน และนำส่งโรงพยาบาลทันที
ส่วนที่เป็นพิษคือเมล็ดและยางจากเปลือก หลังจากเคี้ยวหรือกลืนส่วนมีพิษของบานทนเข้าไป จะอาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ มองเห็นไม่ชัด มึนงง ชีพจรเต้นช้าหรือไม่สม่ำเสมอ ความดันโลหิตลด และตาย ชาวพื้นเมืองในแอฟริกาใช้หัวลูกศรจุ่มยางนี้แล้วยิงสัตว์หรือคน
ข้อมูลการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
สารเคมีที่พบ : เมล็ด cardiac glycoside 4 - 8% ที่สำคัญคือ ouabain (G-strophanthin) มีประมาณ 95% ของ glycoside ทั้งหมด ส่วน glycoside อื่นๆ ที่พบ ได้แก่ sarmentoside A, sarmentoside D, acolongifloroside-K, bipindoside, tholloside, sarhamnoside เป็นต้น และ fixed oil
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา : เมล็ด สาร ouabain ในเมล็ดมีฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุลำไส้เล็ก สารพิษดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เกิดขึ้นหลังจากได้รับเข้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง หรือมากกว่า ถ้าได้รับในปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิด systemic toxic ได้

  Ouabain มีสารพิษชื่อ digitalis มีพิษต่อหัวใจและเลือด
อาการ ระคายเคืองเยื่อบุในปากและกระเพาะอาหารก่อน ตามด้วยอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะและปวดท้อง  ถ้ารับประทานเข้าไปมากและล้างท้องไม่ทัน สารพิษจะถูกดูดซึมผ่านทางลำไส้และแสดงพิษต่อหัวใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ขึ้นกับชนิดของไกลโคไซด์
วิธีการรักษา
1. นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
2. ล้างท้อง
3. รักษาตามอาการ
4. ถ้าจาก EKG พบว่า มี Ventricular tachycardia ควรให้ potossium chloride (5 - 10 g) หรือให้ K+ (80 mEq/L) การเจ็บแขนอาจช่วยด้วยการนวด และประคบน้ำร้อน
เอกสารอ้างอิง:
1. http://www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/toxic_plant.asp?gr=G14&pl=0747&id=1
2. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001. 810 p. (502)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม