ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ชำมะเลียง ชำมะเลียง
ชำมะเลียง
 
ชำมะเลียง
ชื่ออื่นๆ: ภาคกลาง ภาคใต้ เรียก ชำมะเลียงบ้าน พุมเรียง พุมเรียงสวน ตราดเรียก โคมเรียง ภาคเหนือ เรียก ผักเต้าและมะเถ้า ภาคอีสาน เรียก ภูเวียง
ชื่อสามัญ: Luna nut หรือ Chammaliang
ชื่อวิทยาศาสตร์: Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.
วงศ์: SAPINDACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป: ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา สูงได้ถึง 8 ม. ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่ถึงรูปไข่กลับกว้าง 2-8 ซม. ยาว 9-30 ซม. ปลายใบแหลมทู่ โคนใบสอบ ผิวใบเกลี้ยง ใบเขียวเต็ม มีหูใบ แผ่เป็นแผ่น รูปเกือบกลม ขนาดกว้าง 2-3.5 ซม. เรียงเวียนซ้อนกันบริเวณโคนก้านใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาวครีม ออกเป็นช่อห้อย ยาวถึง 75 ซม. แยกเพศ ดอกบานกว้าง 5-7 มม. กลีบรองดอก 4 กลีบ รูปเกือบกลม กลีบดอก 4 กลีบ เกสรผู้ 5-8 อัน รังไข่มี 2 ช่อง ผลรูปไข่ถึงรูปรีป้อม สีม่วงดำถึงออกแดง ผิวเกลี้ยงมักมี 2 เมล็ด
ฤดูการออกดอก: มิถุนายน - ธันวาคม
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
เป็นพันธุ์ไม้ที่มีการขยายพันธุ์ง่าย ขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด
ขึ้นได้ในดินเค็ม การแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติพบมากแถบพื้นที่ชายทะเล
ชำมะเลียงเป็นพันธุ์ไม้ผลพื้นเมือง จึงทนทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดี
ข้อแนะนำ:
ก่อนรับประทานผลชำมะเลียงควรคลึงเบาๆ ให้ทั่วผล จะลดรสฝาดลงได้บ้าง
ข้อมูลอื่นๆ:
ผลชำมะเลียงแก่ มีรสฝาดหวาน คนโบราณให้เด็กดินแก้โรคท้องเสีย
ราก แก้ร้อนใน แก้ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต และเลือดกำเดาไหล
ใบอ่อน ใช้ประกอบการทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงเลียง
น้ำชำมะเลียง      
  ส่วนผสม      
  ชำมะเลียงสุกงอม 1 ถ้วย
    น้ำต้มสุก 1 1/2 ถ้วย
    น้ำเชื่อม (1:1) 1/3 ถ้วย
    เกลือ 1 ช้อนชา
  วิธีทำ      
    1. เลือกผลชำมะเลียงผลโตๆ และสุกงอม ล้างให้สะอาด ใส่ลงในภาชนะ
    2. เติมน้ำต้มสุกเล็กน้อย ยีให้เมล็ดหลุดจากเนื้อ เติมน้ำที่เหลือ
    3. กรองเอาเมล็ดและเปลือกออก เติมน้ำเชื่อม และเกลือลงไป
    4. ชิมรสตามใจชอบ จะได้น้ำชำมะเลียงสีม่วง
เอกสารอ้างอิง:
1. ระบบสืบค้นฐานข้อมูลพรรณไม้องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/Search_detail.asp?Botanic_ID=1496
2. http://www.thaigoodview.com/node/2235
3. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001.  810 p.(317)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และสุดใจ วรเลข
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม