ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
พัดนางชี พัดนางชี
 
พัดนางชี
ชื่ออื่นๆ: พัดยายชี มือพระนารายณ์
ชื่อสามัญ: Cola De Gallo
ชื่อวิทยาศาสตร์: Xyphidium caeruleum Aubl.
วงศ์: HAEMODORACEAE
ลักษณะพฤกษศาสตร์: เป็นไม้คลุมดิน ลำต้นอวบน้ำ เป็นข้อสั้นๆ ทอดเลื้อยแนบไปกับพื้นดินและชูยอดสูงประมาณ 50 - 100 ซม. เกิดรากและแตกกิ่งใหม่ตามส่วนที่แนบกับพื้นดินได้ง่าย เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบสลับระนาบเดียว ใบรูป ใบหอก ยาวแกมรูปเคียวแบนขนาดประมาณ 6 x 50 ซม. โดยสันใบอยู่ด้านล่าง ขอบใบอยู่ด้านบน ปลายใบเรียวแหลมคล้ายหาง เส้นใบเป็นเส้นขนานกับความยาวของใบ ดอกเกิดที่ปลายยอด ออกเป็นช่อแยกแขนงแบบช่อกระจุกด้านเดียว ดอกย่อยสีขาวบานเต็มที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 ซม. มี 6 กลีบแบ่งเป็น 2 ชั้น เกาะติดสลับกัน แต่ละกลีบเป็นอิสระจากกัน เกสรเพศผู้ มี 3 อัน เกาะติดที่ฐานรองดอก เกสรเพศเมีย แบบรังไข่เหนือวงกลีบ ก้านชูยอดเกสรสีขาว รังไข่สีเขียว แบ่งเป็น 3 พู สันแต่ละพูมีขนยาวสีขาวใสเกาะติด ไข่มีจำนวนมาก เกาะติดที่รอบแกนกลางร่วม
การปลูก: โดยการปักชำ ใช้กิ่งแก่ กิ่งอ่อนที่ดึงใบออกหมด หรือยอดอ่อนที่มีใบติดอยู่ด้วย โดยตัดกิ่งเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 10 - 15 ซม. นำไปปักในถุงเพาะชำ หรือในแปลงปลูกเลยก็ได้ นำส่วนโคนของกิ่งที่เตรียมไว้ปักเฉียงประมาณ 40 องศา ลึกเกือบครึ่งหนึ่งของความยาว ถ้าเป็นแปลงปลูกปักกิ่งให้ห่างกันประมาณหนึ่งผ่ามือ เพื่อให้ต้นที่เกิดใหม่เบียดกันแน่นต้นจะตั้งตรงเป็นพุ่มสวยงาม
การดูแลรักษา:
รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอ
เมื่อต้นมากเกินไปเบียดกันแน่นเกินไป ต้นโทรมไม่เป็นพุ่ม ต้องตัดกิ่งออกบ้างโดยตัดให้ชิดดินและห่างกันประมาณจุดละ 1 ศอก พร้อมกับโรยปุ๋ยมูลวัวแห้งประมาณ 2 กก. ต่อ พื้นที่ 1 ตรม.
คอยดูตัดกิ่งที่ยืดยาวเกินพื้นที่ต้องการออก
การใช้ประโยชน์ด้าน
ภูมิสถาปัตย์:
เหมาะกับพื้นที่มุมอาคาร หรือใต้ร่มเงา ที่ได้รับแสงแดดน้อย
เป็นพืชที่ให้ดอกทนนาน และดอกเป็นช่อสีขาวตัดกับสีเขียว ในระดับประมาณ 50 ซม.
เหมาะในการปลูกร่วมกับน้ำตก และแสงเงาจากไฟ เนื่องจากความมันเงาบนใบให้แสงสะท้อนได้ดีและอยู่ในระดับต่ำ
ปลูกร่วมกับสวนหินได้ดี เนื่องจากพืชมีความอ่อนช้อยสูงมากจะไปช่วยขับให้ก้อนหินเด่นชัด
หมายเหตุ: กาบใบเป็นช่องเพื่อเก็บน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้กับต้น
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม