ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
ผักขมหนาม
 
ผักขมหนาม
ชื่ออื่นๆ: ผักโหมหนาม ปะตึ แม่ล้อคู่
ชื่อสามัญ: Spiny amaranth
ชื่อวิทยาศาสตร์: Amaranthus spinosus Linn.
วงศ์: AMARANTHACEAE
ถิ่นกำเนิด: อเมริกาเขตร้อน
ลักษณะพฤกษศาสตร์: เป็นพืชล้มลุกอายุสั้นประมาณ 2-4 เดือน หรือเมื่อออกดอกติดเมล็ดแล้วก็จะค่อยๆ เหี่ยวแห้งตาย หรือเรียกว่าพืชที่มีอายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งมาก ความสูงประมาณ 1 ม. ลำต้นเป็นเหลี่ยมหรือกลมมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้นผิวเรียบ การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบสลับ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ หรือรูปไข่แกมใบหอกกว้าง ขนาดประมาณ 7.00 x 4.00 ซม. ปลายใบแหลมโคนสอบแคบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 7.00 ซม. และมีหนามแหลมยาว 2 อันที่โคนก้านใบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด หรือเป็นช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่ง ชอกใบ ซอกกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกเป็นเหมือนกาบปลายแหลมสีขาวและเขียวขนาดเล็ก ผลเป็นแบบแห้งแล้วแตก โดยแตกตามขวางของผล เมล็ดสีน้ำตาลเป็นมันเงา ทรงกลมตรงกลางทั้งสองด้านนูน ขนาดเล็กประมาณ 0.05 ซม.
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
การป้องกันและกำจัด:
ใช้วิธีการเขตกรรม เช่น ถาก ตัด ให้สั้นไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง
ใช้สารเคมีต่างๆ เช่น กรัมม๊อกโซน, มาร์เก็ต (ไกลโฟเซต), ดาร์ไฟท์ (ไกลโฟเซต ไอโซโพฟิลามีน ซอลต์), ดามาร์ค (ไกลโฟเลท), ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์ ), ราวด์อั๊พ, สปาร์ค
เอกสารอ้างอิง:
1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).   พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
รวบรวมโดย: รัตนะ สุวรรณเลิศ
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม