ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
Central Laboratory and Greenhouse Complex
ทรัพยากรพืชพรรณฯ
 
กุมาริกาด่าง
 
กุมาริกาด่าง
ชื่ออื่นๆ: กุมาริกา ช่อมาลี (ทั่วไป) เครือเขามวก เครือเขามวกขาว ตั่งตู้เครือ (ภาคเหนือ) ตังติด (จันทบุรี) มวก ส้มลม (ปราจีนบุรี) ส้มเย็น (สตูล) ช้างงาเดียว (ประจวบ)
ชื่อสามัญ: Osmanthus
ชื่อวิทยาศาสตร์: Parameria laevigata (Juss.) Moldenke
วงศ์: Apocynaceae
ถิ่นกำเนิด: ประเทศอินเดีย
ลักษณะทั่วไป: ไม้เลื้อยขนาดเล็ก ทรงพุ่มไม่แน่นอน มีความสามารถในการยึดเกาะสิ่งต่างๆ ได้ดี
ฤดูการออกดอก: ช่วงฤดูหนาว (ธ.ค. - ก.พ.)
เวลาที่ดอกหอม: หอมตอนพลบค่ำ
การขยายพันธุ์:
กุมาริกามีการติดฝักและเมล็ด น่าจะขยายพันธุ์โดยเมล็ดได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลในการปฏิบัติงานจริง หากเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้วจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
ข้อดีของพันธุ์ไม้:
ใบด่างสวยงาม ดอกหอมเหมือนสร้อยสุมาลีใบเขียว
เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยที่ออกดอกเร็ว ที่สวนไม้หอมฯ ออกดอกให้ชมได้ภายใน 6 เดือนหลังปลูก
มีความสามารถในการเกาะยึดสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ได้ดี ที่สวนไม้หอมฯ ทดลองผูกติดไว้กับเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ระดับ 50 ซม. สามารถเลื้อยขึ้นเสาไฟฟ้าต่อได้ด้วยตัวเอง (วิธีนี้ไม่แนะนำให้ทำนะครับ) เสาไฟฟ้าที่ทดลองไม่มีการเดินระบบไฟฟ้า  แนวความคิดนี้ผู้รวบรวมหวังว่าจะใช้ประโยชน์กับสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะคล้ายเสา
เหมาะที่จะปลูกไว้ใช้กับซุ้มที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะน้ำหนักต้นไม้ชนิดนี้ไม่มาก
เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยที่ทนทานสภาพแวดล้อมดีมากชนิดหนึ่ง จากการเก็บข้อมูลในรอบ 3 ปีไม่พบการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช และเมื่อปลูกแล้วประมาณ 1 ปี จะไม่ต้องดูแลมากเท่ากับพันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ
ข้อแนะนำ:
ต้องการแสงแดดจัดตลอดวันในการเจริญเติบโตจึงจะออกดอกได้ดี
เจริญเติบโตได้ดีเมื่อสามารถเกาะซุ้มหรือที่ยึดเหนี่ยวแล้ว
ในช่วงแรกของการปลูกเราจะเห็นยอดนำที่มีขนาดใหญ่ อวบ ชูเด่นให้เห็น ควรทำการผูกยอดนำกับซุ้มหรือที่เกาะทันที และควรตัดแต่งยอดเล็กๆออกให้หมด จะทำให้ยอดนำมีการเจริญเติบโตที่ดี
จากการสังเกต การร่วงของใบพบว่าทยอยร่วงตลอดเวลา ผู้ที่ชอบความสะอาดไม่ควรมองข้ามในข้อนี้นะครับ เพราะว่าเมื่อปลูกจนมีขนาดใหญ่แล้วคุณจะต้องกวาดบริเวณพื้นที่ปลูกทุกวัน และถ้าชอบปลูกพันธุ์ไม้เลื้อยและชอบสะอาด ผู้รวบรวมแนะนำว่าควรปลูกหิรัญญิการ์จะดีกว่า เพราะเป็นพันธุ์ไม้เลื้อยใบใหญ่และใบไม่ค่อยร่วง แต่หิรัญญิการ์เองก็มีส่วนที่ต้องคำนึงถึงก็คือ เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ต้องการซุ้มที่แข็งแรง
ข้อมูลอื่นๆ:
ลักษณะทั่วไปคล้ายกับสร้อยสุมาลีใบสีเขียว
สันนิฐานว่าน่าจะกลายพันธุ์มาจากสร้อยสุมาลีใบสีเขียว
ลู่ทางการตลาด ราคาต้นอยู่ในระดับกลาง ไม่แพงหรือถูกเกินไป
เอกสารอ้างอิง:
1. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ.  2542 หน้า. (807)
2. Tem Samitinand.  Thai Plant Names.  Revised Edition 2001. 810 p. (396)
รวบรวมโดย: นพพล เกตุประสาท  และไพร มัทธวรัตน์
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม